พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ (พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๕๘)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ (พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๕๘)

กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ

(พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๕๘)

กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๐ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาจันทร์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ทรงเป็นต้นราชสกุล เกษมศรี

เจ้าจอมมารดาจันทร์ นั้น ท่านเคยมีละครสืบทอดมรดกมาจากละครของเจ้าจอมมารดาอัมภา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ละครของเจ้าจอมมารดาจันทร์มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนอกจากจะฝึกละครแล้ว ท่านยังฝึกมโหรี ปี่พาทย์ด้วย กรมหมื่นทิวากรฯ จึงทรงดนตรีไทยได้ดี มาแต่ยังทรงพระเยาว์ เครื่องดนตรีไทยที่ทรงได้ดี คือ ระนาด และซอสามสาย ทั้งยังทรงแสดงละครได้ดีอีกด้วย

กรมหมื่นทิวากรฯ นั้น นับได้ว่าเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุน้อยกว่ากันราว ๕ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทานพระกรุณามาก และเนื่องจากทรงมีพระวรกายและรูปพระพักตร์จัดได้ว่าเป็นบุรุษที่งามมากด้วย จึงได้ทรงแสดงละครเป็นตัวพระเอกบ่อย ๆ การเล่นละครในราชสำนักสมัยนั้นก็เป็นการแสดงแบบ “ทรงกันเองในระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ” ต่อมาเมื่อทรงพระเจริญขึ้นแล้วก็ยังทรงฝึกหัดละครที่วังของพระองค์ท่าน ที่ตำบลสามเสน ถนนขาว และเล่นละครต่าง ๆ ตามบทของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์บ้าง บทของผู้อื่นบ้าง จนใกล้สิ้นพระชนม์จึงได้เลิกไป มรดกการดนตรีและละครจึงได้ตกทอดมาสู่ ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี พระโอรส ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์

เกี่ยวกับการดนตรี กรมหมื่นทิวากรฯทรงต่อซอสามสายจาก กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณและพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางค์กูร) กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณทรงเอ็นดูกรมหมื่นทิวากรฯ มาก เพราะนับญาติกันแล้ว กรมหมื่นทิวากรฯ มีศักดิ์เป็นน้องและอาจจะเป็นเพราะทรงซอสามสายได้ดีมาก กรมหลวงบดินทร์ฯ จึงทรงทำซอสามสายคันหนึ่งประทานเป็นซอคู่พระหัตถ์ ซึ่งก็ได้ทรงมาตลอดพระชนมายุ ซอคันนี้มีขนาดเล็กกว่าซอสามสายปกติเล็กน้อยสร้างขึ้นพิเศษสำหรับคนถนัดซ้ายโดยเฉพาะการขึ้นสายจึงกลับทางกับซอสามสายธรรมดาที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ทั้งยังได้ทรงสมรสกับ ม.จ.หญิงประสานศัพท์ พระธิดาของกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ ซึ่งทรงตีระนาดทุ้มอยู่ในวงของบิดาด้วย

ผลงานทางด้านการถ่ายทอดดนตรีนั้น กรมหมื่นทิวากรฯ ทรงต่อซอประทานให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และได้นิพนธ์เพลงไว้เพลงดียว คือ เพลงเหาะบทจีน

กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ มีพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๒๕) มรดกการดนตรีและการละครของท่าน ได้ตกทอดมายัง คุณทอร์ศรี คงจำเนียร และคุณสมบัติ คงจำเนียร เจ้าของโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ ซึ่งเป็นธิดาและบุตรเขยของ ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สยามรัฐรายวัน ประจำวันเสารที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ และหนังสือพระประวัติกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.