ทรัพย์ นุตสถิตย์
(พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๕๑๗)
ครูทรัพย์ นุตสถิตย์ เป็นบุตรคนหัวปีของนายเนตรและนางจัน เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ณ ตำบลโรงเข้ จังหวัดสมุทรสงคราม การศึกษาวิชาสามัญนั้นเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดบรมนิวาส พร้อมกับศึกษาวิชาภาษาอังกฤษและวิชาการบัญชีตามโรงเรียนกลางคืน จนมีความรู้เป็นอย่างดี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้สมัครเข้าเรียนเสมียนฝึกหัดที่กรมรถไฟหลวง และรับราชการเรื่อยมาจน ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ มีการแยกการบริหารราชการของกรมรถไฟหลวงออกเป็นองค์การรัฐวิสาหกิจ ครูทรัพย์ ถูกปลดเป็นข้าราชการบำนาญ และรับบำนาญเรื่อยมา
การศึกษาวิชาดนตรีนั้น เริ่มเรียนซอ จะเข้และขลุ่ยจากบิดาซึ่งเป็นดนตรีอยู่บ้าง แต่ตัวท่านเองว่า ยังไม่สามารถจะใช้เครื่องดนตรีให้ประณีตไพเราะเท่าที่ควร เพราะไม่ได้รับการแนะนำในการใช้เครื่องมือเป็นพิเศษ ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารสังกัดกองแตรวง แผนกเครื่องสายไทย ซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังเป็นผู้บังคับบัญชา ต่อมามีการคัดเลือกผู้มีความประพฤติเรียบร้อยเข้าไปประจำวงปี่พาทย์ที่บ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ซึ่งมีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นครูประจำวง จึงเป็นโชคดีของครูทรัพย์ ที่ได้มีโอกาสฝึกหัดเล่าเรียนดนตรีจากพระยาเสนาะฯ และได้ร่วมวงกับครูเทียบ คงลายทอง ครูสอน วงฆ้อง ครูมิ ครูพริ้ง ดนตรีรส กับอีกหลายท่านซึ่งเป็นศิษย์ของพระยาเสนาะฯ และรับราชการเป็นทหารรักษาวังอยู่ด้วยกัน
ครูทรัพย์เล่าว่า ได้เรียนวิธีเป่าขลุ่ยจากพระยาเสนาะฯ ทั้งการใช้ลมใช้ลิ้นครั่นลม และการใช้เสียงเลียนเพื่อให้คล้ายปี่ ซึ่งตัวครูทรัพย์เองยังไม่เคยได้ใช้มาก่อนเลย รวมทั้งเพลงเดี่ยว เพลงตับ เพลงเสภา เป็นอันมาก ภายหลังได้หัดตีฆ้องใหญ่กับครูสอน วงฆ้อง หัดตีระนาดเอกจากครูทองใบ ขวัญดี จนจบโหมโรงเช้า ครูทรัพย์ กล่าวอยู่เสมอว่า ได้รับความรู้ความชำนาญทางดนตรีจากสถาบันนี้ ซึ่งมีท่านอาจารย์พระยาเสนาะดุริยางค์และเพื่อนผู้ร่วมสถาบันได้อุปการะให้แนวทาง นับว่าเป็นบุญคุณแก่ตัวท่านมาก ภายหลังท่านได้ใช้วิชาดนตรีหาเลี้ยงชีพอีกทางหนึ่งโดยรับสอนดนตรีที่สโมสรนายทหารโรงเรียนนายร้อยทหารบก สโมสรรถไฟและสโมสรข้าราชการอื่นๆ ในครั้งสุดท้ายสอนอยู่ที่ชมรมดนตรีไทย ธนาคารกสิกรไทย จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมอายุได้ ๗๖ ปี
ผลงานทางดนตรีของครูทรัพย์นั้น นอกจากความสามารถในการเป่าขลุ่ยได้ดีเป็นพิเศษแล้วยังได้แต่เพลงไว้อีก ๒ เพลง คือ เพลงเขมรชนบท และเพลงมอญชมจันทร์ ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ด้วยวิธีขยายและตัดลงจากของเดิม ภายหลังก่อนสิ้นชีวิตได้แต่งบทธรรมสังคีตประกอบปี่พาทย์และแต่งเพลงเพิ่มอีก ๒ เพลง คือ เพลงคะนึงนึก และเพลงตรึกธรรม โดยทำจากเพลงตระโบราณ แต่ยังมิทันจะได้นำออกเผยแพร่ก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ครูทรัพย์ได้มีโอกาสร่วมเล่นดนตรีกับวงที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีแพทย์อาวุโสไปร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีสากลคณะ อ.ส. ที่สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ครูทรัพย์ก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และร่วมวงด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป่าปี่ ตลอดเวลาประมาณ ๓๐ นาที เมื่อจบการแสดงดนตรีแล้ว ได้พระราชทานเข็มเครื่องหมายที่ระลึกแก่ครูทรัพย์ด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมยิ่งนัก ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อถึงคราวใดที่ครูทรัพย์ต้องไปร่วมวงกับครูเทียบ คงลายทอง เจ้าแห่งเครื่องเป่า ถ้าเป็นวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ครูเทียบก็จะเป่าปี่ ครูทรัพย์ตีฉิ่ง ถ้าเป็นวงปี่พาทย์ไม้นวม ครูทรัพย์จะเป่าขลุ่ย ครูเทียบจะเป็นคนตีฉิ่ง ถ้อยทีถ้อยเคารพกันเช่นนี้เสมอ นับเป็นตัวอย่างอันดีแก่ชนรุ่นหลัง
ครูทรัพย์ มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๖ คน เรียงตามลำดับคือ หญิง-สมศิริ ชาย-กำจัด ชาย-บัญชา ชาย-ประเกียรติ ชาย-ประกิต และหญิง-ศรีวิภา
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพครูทัพย์ นุตสถิตย์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.