ทั่ง สุนทรวาทิน
(ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)
ไม่มีใครรู้จักดีพอจะเขียนประวัติได้ละเอียดรู้แต่ว่าบ้านเดิมของท่านอยู่ที่ตำบลสวนมะลิ ใกล้วัดเทพศิรินทราวาส และเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงยิ่งท่านหนึ่งในยุคร่วมสมัยกับพระประดิษฐ์ไพเราะหรือครูมีแขก ทั้งนี้เพราะว่าท่านเป็นบิดาของครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นปู่ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปีเกิดของพระยาเสนาะดุริยางค์ในกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว นับย้อนไปอีกสองรุ่นก็จะตรงกับสมัยของครูมีแขกพอดี
ที่ว่ามีชื่อเสียงยิ่งท่านหนึ่งนั้น ก็เพราะว่าผลงานทางคีตนิพนธ์ชิ้นหนึ่งยังหลงเหลือมาจนปัจจุบัน คือ เพลงโหมโรงมหาชัย เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ครูมีแขกนั้นมีงานคีตนิพนธ์ไว้เป็นอันมากซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมาแต่โบราณ จึงพอกล่าวได้ว่า ผู้ใดรจนางานคีตนิพนธ์ของตนขึ้นใช้ในสำนักในหมู่คณะเป็นเอกเทศในขณะที่ครูมีแขกมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่นั้นจะต้องมีความสามารถและชื่อเสียงมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าครูมีแขกเป็นแน่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากครูช้อย สุนทรวาทิน ผู้บุตรซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาดนตรีจากครูทั่งโดยตรง จนสามารถสร้างศิษย์ให้เป็นเจ้ากรมปี่พาทย์หลวงทั้ง ๒ คน คือ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) รวมทั้งงานคีตนิพนธ์อันลือชื่อต่าง ๆ ของครูช้อยด้วยแล้ว ก็ต้องนับได้ว่า ครูทั่งนั้น เป็นหลักฐานเป็นแหล่งวิชาอย่างเลิศท่านหนึ่งโดยแท้
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก ประสบการณ์ และคำบอกเล่า ของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.