ถีร ปี่เพราะ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๒๕)

ถีร ปี่เพราะ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๒๕)

ถีร ปี่เพราะ

(พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๒๕)

 

ครูถีร ปี่เพราะ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่จังหวัดปทุมธานี บิดาชื่อ แขก มารดาชื่อลิ้นจี่ เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ยังเล็กจากบิดาและญาติในจังหวัดปทุมธานี มีพื้นความรู้ในเพลงสำเนียงมอญดีมาก สามารถพูดและนำภาษามอญมาบรรจุเป็นบทร้องได้ดี ได้ศึกษาวิชาสามัญชั้นต้น จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนประชาบาล วัดสะแก เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยรุ่น ได้ออกจากบ้านไปเล่นดนตรีอยู่ในคุ้มเจ้านายเมืองเหนือ จึงมีความรู้เรื่องเพลงพื้นเมืองภาคพายัพเพิ่มขึ้นอีก 

ครูถีร สมรสครั้งแรกกับนางเหรียญ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน มีบุตรชายที่ชื่อ เถา ปี่เพราะ เพียงคนเดียวที่มีความสามารถทางด้านดนตรี จนยึดถือเป็นอาชีพ ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๕) รับราชการอยู่แผนกดุริยางค์ กองสวัสดิการ กรมตำรวจ บุตรธิดานอกนั้นมิได้มีอาชีพเป็นนักดนตรี 

ครูถีร เป็นคนมีใจรักดนตรีมากเป็นพิเศษมีความขยันฝึกซ้อมเป็นอย่างยิ่ง พยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง จนในที่สุดได้มีโอกาสเป็นศิษย์ของครูพุ่ม บาปุยะวาท และครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเพลงต่าง ๆ มากจนตลอดถึงเพลงหน้าพาทย์ทุกเพลง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ ครูถีรได้สมัครเข้ารับราชการในกรมศิลปากรได้ตำแหน่ง สำรองราชการในแผนกดุริยางค์ไทยและรับรับราชการต่อมาจนได้บรรจุเป็นข้าราชการประจำ มีหน้าที่เป็นครูช่วยสอนอยู่ในโรงเรียนนาฎดุริยางค์ด้วย นอกจากนี้ ครูถีร ยังมีวงเครื่องสาย  อังกะลุง และวงกลองยาว รับแสดงในงานต่าง ๆ และเป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์สวนอนันต์ มีชื่อเสียงมาก รับงานอยู่เสมอมิได้ขาดเพราะนอกจากจะมีฝีมือในการบรรเลงดีแล้ว ยังมีหางเครื่องใช้คนรำประกอบเป็นชุด ๆ ด้วยเพราะคุณเหรียญภรรยาของครูนั้นเป็นช่างฟ้อน จึงฝึกลูกหลานให้ฟ้อนประกอบการบรรเลง เป็นที่นิยมกันในระยะนั้น 

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ สวรรคตอย่างกระทันหัน ครูถีรได้มีหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ขอพระบรมราชานุญาตนำปี่พาทย์มอญไปประโคมพระบรมศพ ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประโคมได้ เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ครูถีร และชาวคณะดนตรีสวนอนันต์มาก 

พ.ศ. ๒๔๙๐ ครูถีร ได้สมรสครั้งที่ ๒ กับนางฉิน ชอบชื่นสุข เนื่องจากนางเหรียญภรรยาคนแรกถึงแก่กรรม มีบุตรธิดาต่อมาอีก ๕ คน เสียชีวิตแต่ยังเด็ก ๑ คน ไม่มีใครยึดอาชีพเป็นนักดนตรีตามบิดาอีกเช่นกัน 

ฝีมือในทางดนตรีของท่านนั้น มีความสามารถบรรเลงได้รอบวง ทั้งปี่พาทย์เครื่องสาย อังกะลุง จนถึงกลองยาว ฝีมือในการตีระนาดนั้นเป็นผู้ที่มีสามารถตีระนาดได้ถูกต้องตามลักษณะที่คุณครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้กำหนดเอาไว้โดยเฉพาะ “เสียงร่อน” ทั้งหลายท่านทำได้เยี่ยมมาก  บุคลิกนับตั้งแต่ท่านั่งการวางแขน การจับไม้ระนาดและการเคลื่อนไหวเวลาตี มีความสง่าผ่าเผยทุกกระบวนท่า และในด้านฝีมือกลองนั้น ครูประสิทธิ์ ถาวร แห่งกรมศิลปากรยกย่องว่าครูถีร เป็นมือกลองบันลือโลกมีเทคนิคในการตีกลองสูงส่งมาก สามารถใช้ฝ่ามือ ข้อมือ และนิ้วมือ ทำให้เกิดเสียงที่ดังไพเราะนุ่มนวลและพริ้วน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง 

ผลงานทางด้านการแต่งเพลงนั้น ได้แต่งบทร้องเพลงต่าง ๆ ไว้หลายเพลง อาทิเช่น บทร้องเพลงเขมรกำปอเถา จีนขวัญอ่อนเถา ลาวครวญเถา มอญบ้านบาตรเถา ญวนเคล้าเถา ญวนในเถา ญวนให้พร พม่าแซง ตับมอญร้องไห้ ตับเพลงเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้ชาติไทย ตับเพลงเรื่องพระราชพงศาวดาร ตอนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะยุทธหัตถี และตับพระยาละแวก  เป็นต้น 

ครูถีรได้ลาออกจากราชการ กรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ มาประกอบอาชีพทางด้านดนตรีมีวงกลองยาว “ไผ่ทองคำ” และมีวงอังกะลุง “อนันตวิโรจน์” รับบรรเลงงานต่าง ๆ และรับสอนดนตรีไทยในสถาบันต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสวนเด็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และช่วยสอนอยู่ในวงดนตรีไทย ของนายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว ได้ต่อเพลงสำเนียงมอญให้ไว้ที่วงนี้หลายเพลงด้วยกัน 

ครูถีร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕ รวมอายุ ได้ ๗๑ ปี

จรวยพร สุเนตรวรกุล

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายถีร ปี่เพราะ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.