แดง พาทยกุล (พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๖๘)

แดง พาทยกุล (พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๖๘)

แดง พาทยกุล

(พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๖๘)

 

นายแดง พาทยกุล หรือครูแดง เมืองเพชร เกิดเมื่อปีมะเส็ง ตรงกับพ.ศ.๒๔๐๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ตำบลท่าช่อง อำเภอคลองกระแซง (คืออำเภอเมืองเพชรบุรี) จังหวัดเพชรบุรี ไม่ทราบนามบิดามารดา มีพี่น้องร่วมมิดามารดา ๑ คน คือ นายต้ม พาทยกุล ภรรยาชื่อนางหรั่ง พาทยกุล มีบุตรชายหญิงรวมกัน ๕ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๓ คน มีชื่อเรียงตามลำดับ คือ พร้อม พริ้ง พร้อย ปุ๋ย และเล็ก ผู้สืบทอดสกุลและสืบทอดดนตรีมาจนบัดนี้มีเพียง ๑ คือ นายพร้อม พาทยกุล ซึ่งเป็นบิดาของนายเตือน พาทยกุล และเป็นปู่ของเรือตรีอรุณ พาทยกุล นักดนตรีไทยมีชื่อเสียงของกองทัพเรือในปัจจุบัน 

นายแดง พาทยกุล ได้เริ่มเรียนดนตรีไทยกับพระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) ที่กรุงเทพฯ เป็นศิษย์มีฝีมือ สามารถเล่นปี่พาทย์ได้รอบวงและสามารถเป่าปี่ได้ดี อีกทั้งยังสามารถทำระนาดได้ดี มีรูปทรงงดงาม เมื่อกลับมาอยู่ที่เพชรบุรี ได้ตั้งวงปี่พาทย์ของตนเองขึ้นร่วมกับพี่ชาย คือนายต้ม พาทยกุล ได้นำวงออกแสดงคู่กับพี่ชายอยู่เสมอ ในการบรรเลงเป็นปรกตินั้น นายต้ม ตีฆ้อง และนายแดงเป่าปี่ วงปี่พาย์ของสองพี่น้องนี้ได้บรรเลงต้อนรับและรับเสด็จแขกเมืองเป็นประจำ ในพ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๕๒ ได้บรรเลงปี่พาทย์ถวายทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ซึ่งเสด็จไปอำนวยการสร้างพระราชวังบ้านปืน ทูนกระหม่อมได้ตรัสชมเชยนายแดง พาทยกุล ที่ได้ทำเครื่องปี่พาทย์ได้สวยงามโดยเฉพาะระนาดเอก ทำจากไม้มะริด ทาขอบสีขาวดูคล้ายงาช้าง ในครั้งนี้นายแดง พาทยกุล ได้ต่อเพลงชมสวนสวรรค์ ถวายทูนกระหม่อมบริพัตรด้วย ทูนกระหม่อมโปรดมาก รับสั่งให้นายแดง พาทยกุล ไปเฝ้าที่วังบางขุนพรหมได้ทุกเวลาและได้ประทานนามสกุล “พาทยกุล” ให้ด้วย 

นายแดง พาทยกุล มีความสามารถพิเศษอีกคือ เป็นนายช่างทองรูปพรรณซึ่งเป็นอาชีพหลักโดยเฉพาะเมื่อตีทองเป็นแผ่นแล้วแกะสลักลวดลายด้วยมือทำเป็นเครื่องประดับได้อย่างดี ผลงานที่มีชื่อเสียงคือแกะสลักไม้สะท้อนเป็นระนาดเอกและทุ้ม มีลวดลายทองวิจิตรงดงามมาก ระนาดคู่นี้นายแดงทำร่วมกับเพื่อนสนิทซึ่งบวชเป็นพระชื่อพระบุญยืน 

ชื่อเสียงของนายแดง พาทยกุล ยังเป็นที่รู้จักกันดีของชาวเพชรบุรีสมัยนั้นอีกในฐานะนายวงพิณพาทย์ประจำคณะลิเกของนายเพิ่ม ขุนวิจารณ์ จนเป็นที่กล่าวติดปากชาวเพชรบุรีว่า “พิณพาทย์นายพร้อมลิเกนายเพิ่ม” (นายพร้อมกับลูกชายคนโตของนายแดง เป็นคนตีระนาดเอกประจำของนายแดง พาทยกุล) 

นายแดง พาทยกุล ได้ป่วยเป็นโรคท้องร่วงถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ ลูกหลานได้ทำพิธีฌาปนกิจศพของท่านที่วัดชีปะขาว จังหวัดเพชรบุรี บรรดาเครื่องปี่พาทย์ซึ่งนายแดงได้ทำด้วยมือตนเองได้ตกทอดมาถึงนายเตือน พาทยกุล จนถึงปัจจุบัน

 

วชิราภรณ์ วรรณดี 

(เรียบเรียงจากบทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.