เชื้อ นักร้อง
(พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๕๐๗)
ครูเชื้อ นักร้อง เป็นบุตรของนายเสงี่ยม และนางแวว เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ ณ ตำบลคลองผดุง อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร
ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดเขียน จังหวัดนนทบุรี
ศึกษาวิชาขับร้องเพลงไทยเบื้องต้นจากบิดา ซึ่งเป็นนักเทศน์และนักร้อง ครั้นต่อมาได้เป็นศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงในรัชกาลที่ ๕ และเป็นครูปี่พาทย์ประจำวงเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในรัชกาลที่ ๖ ศึกษาการขับร้องตามอย่างระเบียบวิธีโบราณ จนมีความแตกฉานในเพลงเสภา และเพลงตับต่าง ๆ เป็นอย่างดี
หน้าที่การงานของ ครูเชื้อ เริ่มด้วยการเข้ารับราชการทหารในกองแตรวง กรมทหารรักษาวัง ในตำแหน่งต้นเสียง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ย้ายไปรับราชการตำแหน่งนักร้องสังกัด กองพิณพาทย์หลวง กระทรวงวังถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ รัฐบาลบยุบกรมพิณพาทย์หลวง ท่านจึงต้องออกจากงาน จนกระทั่งล่วงเข้า พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง ในตำแหน่งศิลปิน สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี จนครบเกษียณอายุ จึงออกจากราชการ หลังจากนั้นได้เข้าเป็นครูสอนขับร้องเพลงไทยเดิมที่กองดุริยางค์กรมตำรวจ จนกระทั่งถึงแก่กรรม ด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านเลขที่ ๓๙ ซอยสุจริต ๑ ถนนพระราม ๕ อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ สิริอายุได้ ๖๘ ปี
ครูเชื้อเป็นศิษย์ ขับร้องรุ่นอาวุโสของพระยาเสนาะดุริยางค์ก่อนครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ มีสำเนียงและลีลาการขับร้องเป็นเยี่ยมในสมัยนั้น จะเห็นได้ว่าในคราวอัดแผ่นเสียงราชบัณฑิตยสภา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นองค์ที่ปรึกษา ครูเชื้อ นักร้องก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร้องส่งร่วมกับนักร้องที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคน เช่น ขุนบำเรอจิตจรุง ครูท้วม ประสิทธิกุล ครูเลื่อน สุนทรวาทิน เป็นต้น ย่อมเป็นเครื่องรับประกันความสามารถของครูเชื้อได้อย่างดี นอกจากนี้เมื่อมีการประกวดการขับร้องเพลงไทยทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ ครูเชื้อ ก็เข้าประกวดและได้รับรางวัลที่ ๑ ประเภทนักร้องฝ่ายชายอีกด้วย กล่าวได้ว่า ครูเชื้อ เป็นนักร้องสมกับชื่อสกุลซึ่งผู้บังคับบัญชาคือ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เป็นผู้ตั้งให้โดยแท้
ครูเชื้อ สมรสกับนางสาวแก้ว กายสิทธิ์ มีธิดาทั้งสิ้น ๕ คน คือ มาณี มนู จินดา มุกดา และวิเชียรฉาย
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก ประวัตินักดนตรีไทย ของ เจริญชัย ชนไพโรจน์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.