ขุนฉลาดฆ้องวง (ส่าน ดูรยาชีวะ) (พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๕๑๑)

ขุนฉลาดฆ้องวง (ส่าน ดูรยาชีวะ) (พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๕๑๑)

ขุนฉลาดฆ้องวง (ส่าน ดูรยาชีวะ)

(พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๕๑๑)

 

ขุนฉลาดฆ้องวง (ส่าน ดูรยาชีวะ) เป็นชาวบ้านลุ่ม อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เกิดเมื่อวันศุกร์แรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๘ บิดาชื่อนายทรัพย์ มารดาชื่อนางเหงยิ้ม ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเวรฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๖ อายุได้ ๑๘ ปี ในกรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียนระนาดจากเจ้าคุณเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ย้ายมาประจำกรมมหรสพ แผนกพิณพาทย์หลวง ทำหน้าที่เป็นคนตีระนาดเอกและระนาดทุ้ม ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้ตำแหน่งพันจ่าเด็กชา แล้วเลื่อนเป็นมหาดเล็กสำรอง ใน พ.ศ.๒๔๖๒ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ มีตำแหน่ง “ฉลาดฆ้องวง” ว่างอยู่ จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนฉลาดฆ้องวง เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๖๔ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นคนตีฆ้องประจำแต่อย่างใด

ขุนฉลาดฆ้องวงแต่งงานกับนางสาวชม บุตรีนายชื่นและนางพัน คนบ้านลุ่ม นนทบุรี บ้านเดียวกัน เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๔ มีบุตรเท่าที่สืบได้ ชื่อสิริ เป็นชาย เกิด พ.ศ.๒๔๖๕

ฝีมือในการตีระนาดอยู่ในระดับดีคนหนึ่งของกรมมหรสพ แต่ไม่ถึงกับมีชื่อเสียงมากนัก ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๑ รวมอายุได้ ๘๓ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของ อาจารย์มนตรี ตราโมท)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.