เลิศ รักรุกรบ (พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๕๐๑)

เลิศ รักรุกรบ (พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๕๐๑)

เลิศ รักรุกรบ

(พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๕๐๑)

 

นายเลิศ  รักรุกรบ  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ย่าชื่อ สั้น มารดาชื่อ เป้า บิดานั้น สืบไม่ได้ว่ามีนามใด  บ้านเดิมอยู่ใกล้กับวังบางขุนพรหมของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  มีน้องชายเพียงคนเดียว ชื่อ ฉาย  เมื่อแรกเกิดนั้น นายเลิศ มีลักษณะพิเศษคือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เต็มบริบูรณ์  ไม่โค้งเว้า  มีจุดขาวเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง ซึ่งโบราณเรียกว่า “ดอกพิกุล” และถือเป็นลักษณะดี  แต่พออายุได้ ๔ ปี ก็ล้มป่วยลงด้วยโรคไข้ทรพิษ  เป็นเหตุให้สูญเสียดวงตาทั้งสองข้าง จึงหมดโอกาสที่จะเรียนวิชาสามัญในโรงเรียนด้วย  

การศึกษาวิชาดนตรีของนายเลิศ เริ่มเมื่ออายุได้ประมาณ ๑๐ ปี  หลังจากบิดาเสียชีวิตแล้ว ลุงของนายเลิศ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้ากรม อยู่กระทรวงทหารเรือ และเป็นนักดนตรีเริ่มสอนให้เป่าขลุ่ย  ต่อมาได้พาไปฝากให้อยู่ในวงดนตรีของพระองค์เจ้าสนิทพงษ์พัฒนเดช โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ที่วังริมคลองบางหลวง  จึงได้เรียนดนตรีไทยกับจางวางทั่ว พาทยโกศล  และสนิทสนมกับ นายเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล เป็นอย่างดี  ได้ชักชวนกันเข้าไปเล่นดนตรีในวังบางขุนพรหมอยู่เสมอ  เป็นที่เมตตาของทูนกระหม่อมบริพัตร ฯ มาก จนได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “รักรุกรบ” และได้รับพระราชทานแหนบบริพัตรด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่นายเลิศถือเป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิต  

ความสามารถในการบรรเลงดนตรีไทยนั้น เครื่องดนตรีที่ถนัดที่สุด คือ ขลุ่ย  รองลงมา คือ ซออู้  นายเลิศ มีลูกศิษย์อยู่มาก  เฉพาะที่มาเรียนด้วยที่บ้าน มีกว่า ๒๐๐ คน ในจำนวนนี้ มีนายพุฒ  นันทพล รวมอยู่ด้วย และศิษย์จากสถาบัน ก็มี โรงเรียนเทพศิรินทร์  โรงเรียนเซนต์หลุยส์  สโมสรนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น  ผลงานด้านการแต่งเพลงมีอยู่เพลงเดียว คือ เพลงเทพหาวเหิรเถา  โดยแต่งร่วมกับครูเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล  ทำขึ้นจากเพลงหน้าพาทย์ที่ชื่อว่า “เหาะ”  ทางด้านการอัดแผ่นเสียง  นายเลิศ ร่วมบรรเลงในวงมโหรีบ้านพาทยโกศล บันทึกแผ่นเสียงไว้หลายเพลง เท่าที่ค้นพบหลักฐานการอัดแผ่นเสียงเพลงเดี่ยวของนายเลิศ ก็มี เดี่ยวขลุ่ย  เพลงพญาโศก  นกขมิ้น ๓ ชั้น และ เชิดนอก ฝีมือดีมาก  

นายเลิศ สมรสกับ นางเจียน บ้านเดิมอยู่อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี  มีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน คือ ฉันท์ (ช) อุทัย (ช) ไพโรจน์ (ช) ลำจวน (ญ) บำรุง (ช) และ บำเรอ (ช)  ปัจจุบันมีชีวิตอยู่เพียง ๓ คน คือ อุทัย  ลำจวน และ บำรุง  

บั้นปลายของชีวิต นายเลิศได้ไปอยู่กับศิษย์คนหนึ่ง ชื่อ “เสมอ” ที่บ้านแถวคลองประปา  สามเสน จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ ก็ถึงแก่กรรม รวมอายุได้ ๗๐ ปี

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียงเรียงจากคำให้สัมภาษณ์ของทายาทนายเลิศ  รักรุกรบ โดย นายเสถียร  ดวงจันทร์ทิพย์)