อุสา สุคันธมาลัย (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๒๘)

อุสา สุคันธมาลัย (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๒๘)

อุสา สุคันธมาลัย

(พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๒๘) 

ครูอุสา  สุคันธมาลัย มีนามเดิมว่า ทรรพ หรือ ทับ หรือที่รู้จักกันทั่วไปอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่ทับเสียงทอง” อันเป็นฉายาที่นักฟังเพลงไทยและผู้นิยมดูละครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ ๗ และสมัยรัชกาลที่ ๘ นิยมชมชอบเสียงของท่านมากจนขนานนามของท่านดังกล่าว   

ครูเกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นธิดาของนายสุทธิ์ และนางเทียบ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๑๐ คน เป็นหญิงล้วน บ้านเดิมของท่านนั้นอยู่ที่ปากคลองบางแพรก ตรงข้ามวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี บิดามารดาของท่านมีวงดนตรีโดยเฉพาะมีชื่อเสียงในด้านเครื่องสาย และบิดาของครูนั้นมีชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ในการขับเสภาอย่างดี ในขบวนพี่น้องทั้ง ๑๐ คนของท่านที่เป็นหญิงล้วนนั้น มีเพียง ๒ คนเท่านั้น ที่ยึดอาชีพนักร้องมาตลอด และได้เป็นครูสอนขับร้องมาจนปัจจุบันนี้ คือ พี่สาวของครูมีชื่อว่า ครูท้วม ประสิทธิกุล (เกิด พ.ศ. ๒๔๓๙ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษสอนขับร้องอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร) และตัวของครูเองที่เป็นนักร้องมาจนเกษียณอายุ   

ท่านเริ่มเรียนขับร้องจากท่านบิดาก่อน ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๑๐ ขวบ แล้วบิดาได้พาไปถวายตัวให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ซึ่งครูขานพระนามท่านว่า “ท่านองค์เล็ก” ครูเล่าว่าเมื่อได้เข้ามาอยู่ในวังนั้น ก็มีครูจากโรงเรียนแหม่มโคลหรือโรงเรียนวังหลัง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและทันสมัยมากในขณะนั้น เข้ามาสอนหนังสือให้ถึงในวังแต่ท่านก็ไม่ชอบเรียนเลยครั้นถึงเวลาที่หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) เข้าไปสอนขับร้อง ครูก็ออกมานั่งเรียนได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อ และสามารถที่จะจำเพลงและจำทางขับร้องได้ดี เนื่องจากครูไม่ชอบเรียนหนังสือ ครูจึงอ่านหนังสือไม่ค่อยจะแตกฉานนัก แต่ครูสามารถจะจำเนื้อร้องและทำนองเพลงได้อย่างดีทั้งหมด หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) จึงนับได้ว่าเป็นครูที่ ๒ ต่อจากท่านบิดา   

นอกจากจะเป็นศิษย์ของหลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) แล้วท่านยังได้เป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ครูเล่าว่า พระยาประสาน ฯ ชอบเสียงของท่านมาก ถึงกับบอกให้คอย จะทำเพลงร้องให้เป็นพิเศษ ซึ่งท่านพระยาก็แต่งให้จริง ๆ คือ เพลงทยอยเดี่ยว และตัวท่านพระยา ฯ เป็นผู้ต่อร้องให้ด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ยังได้เป็นศิษย์ของ คุณแม่เจริญ พาทยโกศล และหม่อมส้มจีนด้วย ครูเป็นคนขับร้องประจำวงมโหรีของ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ จนสิ้นรัชกาล วงมโหรีนี้ก็ยุบเลิกไป ครูจึงได้ทูลลาออกจากวังมาอยู่ที่บ้านพี่สาวที่ชื่อ ทิม เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้สมรสกับหลวงประมาณมนูธรรม (สกุล บุณยรัตพันธ์) บุตรชายของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (เวก บุณยรัตพันธ์ุ) สมรสได้ประมาณ ๙ ปี หลวงประมาณ ฯ ก็ถึงแก่กรรม ครูจึงว่างงาน ในตอนนั้นหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้เข้ามาประจำอยู่ในวงดนตรีหลวงของรัชกาลที่ ๗ แล้ว จึงได้ชักชวนให้ครูเข้ามาร่วมทำงานอยู่ด้วยกัน และในครั้งนั้น สถานที่ที่ฝึกหัดขับร้อง เตรียมสำหรับการเล่นโขนละครต่าง ๆ อยู่ที่บริเวณท้ายวังหลวงในปัจจุบันนี้   

เมื่อถึงยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงถึงยุคที่เรียกว่า  ยุคมาลานำไทย หลวงวิจิตรวาทการ  ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมศิลปากร และเนื่องจากชื่อของครูเป็นชื่อโบราณพยางค์เดียว หลวงวิจิตร ฯ จึงให้เปลี่ยนจากชื่อทับ เป็นชื่อ อุสา ส่วนนามสกุล สุคันธมาลัย นั้น ครูตั้งขึ้นใช้เองเป็นส่วนตัว   

ตลอดเวลาที่ครูอุสาได้ทำหน้าที่เป็นนักร้องประจำกรมศิลปากรนั้น ท่านได้ทำหน้าที่นักร้องหญิงประจำการแสดงละครทุกครั้ง น้ำเสียงของท่านไพเราะมาก มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว ทั้งการร้องเพลงตับ เพลงเถา หรือเพลงที่ร้องในละครต่าง ๆ ท่านร้องได้ยอดเยี่ยมมาก ผลงานที่มีการอัดแผ่นเสียงนั้น ครูเล่าว่า สมัยหนึ่ง กรมศิลปากรไม่อนุญาตให้ศิลปินจากกรม ฯ ออกไปร้องเพลงอัดแผ่นเสียงให้กับบริษัทร้านค้าภายนอก แต่ครูก็ยังออกไปอัดแผ่นเสียงให้กับห้าง ต.เง็กชวน  โดยมีครูเทียบ  คงลายทอง เป็นผู้เป่าปี่ และครูพริ้ง ดนตรีรส เป็นผู้ตีระนาดเอก เพลงที่ขึ้นชื่อลือชามาก คือ เพลงฉุยฉาย นอกจากนั้นก็เป็นเพลงระบำต่าง ๆ และเพลงประกอบการแสดงละคร ซึ่งครูอุสาพูดอยู่เสมอว่า การบรรเลงที่ได้จากครูเทียบและครูพริ้งนั้น หาไม่ได้อีกแล้ว นอกจากเพลงฉุยฉายที่ท่านร้องได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ก็ยังมีเพลงช้าปี่ ซึ่งครูเล่าว่า ในขณะที่ท่านกำลังร้องเพลงช้าปี่นี้ในโรงละครกรมศิลปากรนั้น คนดูโขนถึงกับลากเก้าอี้เข้ามาจนใกล้ เพื่อจะขอดูหน้าคนร้องให้ถนัด  

ครูอุสา มีความสามารถในการขับร้องมาก และร้องเพลงต่อมาได้เรื่อย ๆ จนอายุ ๗๐ ปีกว่ายังมีกำลังดี สามารถขับร้องได้โดยเสียงไม่ตกเลย ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๓ ท่านได้ขึ้นเวทีขับร้องในวงครูอาวุโส ในรายการชุมนุมครูดนตรีอาวุโสซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้จัดขึ้น ครูยังสามารถร้องเพลงพม่าห้าท่อนและเพลงสี่บทได้อย่างไพเราะจับใจคนฟัง   

ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ครูอายุ ๗๙ ปี เสียงเพลงที่ครูร้องให้ฟังเป็นตัวอย่างยังกังวานใสทั้งที่ครูไม่เคยบำรุงเสียงด้วยวิธีใดเลย แต่ครูได้ยุติอาชีพการเป็นนักร้องและครูสอนขับร้องมาประมาณ ๒-๓ ปีแล้ว และพักผ่อนอยู่กับลูกหลานที่บ้านในซอยสิบสี่ตุลา ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๘ ครูก็ได้ถึงแก่กรรม รวมอายุได้ ๖๒ ปี 

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล  

(เรียบเรียงจาก บทสัมภาษณ์ ครูอุสา สุคันธมาลัย โดย “แทนเงา” จากนิตยสาร “ลลนา” ปักษ์หลัง เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๖๙-๗๘ ประกอบคำบอกเล่าเพิ่มเติมจาก ครูท้วม ประสิทธิกุล และเอกสารทะเบียนประวัติกรมมหรสพ) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.