อุไทย โตสง่า (พ.ศ. ๒๔๐๗-๒๔๗๒) 

อุไทย โตสง่า (พ.ศ. ๒๔๐๗-๒๔๗๒) 

อุไทย โตสง่า

(พ.ศ. ๒๔๐๗-๒๔๗๒) 

 

นายอุไทย โตสง่า เป็นครูดนตรีไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ในวงการดนตรีไทยจึงเรียกท่านว่า “ครูอุไทย” ท่านเกิดเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ที่ตำบลเกาะพระ อำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา นามบิดามารดา ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ ครอบครัวของท่านเล่นละครนอกมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ใช้ตัวแสดงเป็นผู้ชายล้วน ครูอุไทย จึงได้ฝึกหัดเล่นละครสืบมา ท่านเล่นเป็นตัวนาง เพราะบุคลิกลักษณะและหน้าตาเหมาะสม ท่านยังสามารถร้องเพลงหน้าพาทย์และเล่นปี่พาทย์ได้รอบวง   

ครูอุไทย โตสง่า สมรสกับ นางเกลี้ยง ชาวอยุธยา มีบุตรชายหญิงรวม ๑๑ คน ถึงแก่กรรมเสีย ๑๐ คน เหลือบุตรชายเพียงคนเดียว คือ นายพุ่ม โตสง่า  ซึ่งได้รับถ่ายทอดวิชาการดนตรีสืบต่อมา   

ครูอุไทย ได้ย้ายเข้ามาเล่นละครและปี่พาทย์ประจำวังกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ในกรุงเทพ ฯ ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกของกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ตลอดเวลาที่อยู่ในวังของเจ้านายทั้งสององค์นี้ ครูอุไทย ได้แสดงความสามารถด้านดนตรีไทยจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นคนมีความรู้ ได้เพลงมากและรู้ในกระบวนรำทำเพลงละครได้ดี เป็นครูดนตรีที่ใจเย็น ไม่เคยเฆี่ยนตีศิษย์ และไม่ดื่มสุรา ลักษณะเด่นในการสอนลูกศิษย์ คือ ศิษย์ทุกคนที่จะมาเรียนดนตรีไทยกับท่านจะต้องเริ่มต้นเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อนเครื่องมืออื่น ๆ และท่านสอนแต่ปี่พาทย์เท่านั้น เพราะท่านไม่ชอบเครื่องสาย ส่วนพิธีไหว้ครูประจำปีที่บ้านของท่านนั้น ไม่ต้องเรียกเพลงหน้าพาทย์ประกอบเหมือนปัจจุบัน ท่านได้มอบตำราพิธีไหว้ครูดนตรีให้แก่นายพุ่ม บุตรชายคนเดียวของท่าน ลูกหลานได้สืบทอดประเพณีนี้ไว้จนบัดนี้   

ครูอุไทยได้แต่งเพลงเรื่องไว้มาก และได้ถ่ายทอดให้บุตรชายไว้ เพลงที่ยากและยาวเป็นพิเศษ เช่น เพลงเรื่องเต่า (ใหญ่) กินผักบุ้ง เรื่องลงสรง เรื่องมอญแปลง และเรื่องพระฉันอย่างยาว เป็นต้น   

ลูกศิษย์ที่สำคัญของท่านได้แก่ นายพุ่ม โตสง่า นายเจิม สกุลตานนท์ (คนขลุ่ย วังจันทร์) หลวงชาญเชิงระนาด และหลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป) ลูกหลานของท่านได้สืบทอดมรดกทางดนตรีไทยไว้เป็นอย่างยิ่ง ปรากฏผลงานอยู่จนปัจจุบันนี้   

ครูอุไทย โตสง่า  จึงเป็นครูปี่พาทย์ที่สำคัญยิ่งผู้หนึ่งในวงการดนตรีไทย ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒ รวมอายุได้ ๖๕ ปี 

 

วชิราภรณ์ วรรณดี   

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของ นายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล และคำให้สัมภาษณ์ของ นายสุพจน์ โตสง่า) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.