ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๒๕) 

ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๒๕) 

ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์

(พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๒๕) 

ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงไทย ผู้ส่งเสริมศิลปดนตรีไทย นักเขียน นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ นักเขียนบทละคร และเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  

ดร.อุทิศ เป็นบุตรของ นายสังวาลย์ และนางอบเชย นาคสวัสดิ์ เกิดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖  โดยที่บิดาเป็นครูสอนดนตรีไทย จึงหัดดนตรีมาตั้งแต่อายุ ๗ ปี   

การศึกษาในเยาว์วัย ระดับประถมถึงมัธยมต้นเรียนที่จัดหวัดสมุทรสงครามแล้วมาเรียนต่อในกรุงเทพ ที่โรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัย ชั้นมัธยมปีที่ ๖ จบแล้วไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เรียนจบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้วย้อนกลับมากรุงเทพฯ เรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จนได้รับอนุปริญญา สาขาวิชาสหกรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ จึงออกไปรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ลาออกมาเรียนต่อที่มาหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบปริญญาตรี และปริญญาโทเกียรตินิยม สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ แล้วจึงได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   

ดร.อุทิศ เป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาก สอบชิงทุนรัฐบาลไทยได้ที่ ๑ ถึง ๓ สาขา แต่ได้เลือกไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา จนได้ปริญญาเอกมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วรับราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ จึงได้ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัว   

ในด้านดนตรี เป็นศิษย์เรียนซอสามสายจากพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖ และเป็นศิษย์ของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยเริ่มเข้าสู่กลุ่มนักดนตรี แห่งบ้านบาตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้ร่ำเรียนวิชาดนตรีทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ จนมีความรู้ดีมาก และท่านครูหลวงประดิษฐได้ทำพิธีมอบให้เป็นครูอ่านโองการได้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา   

ในด้านฝีมือแล้ว นับเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบวง เล่นดนตรีไทยได้ดีทั้งปี่พาทย์และเครื่องสาย ฝีมือการสีซอนั้นได้รับคำชมเชยเลื่องลือว่า “นายอุทิศซอสามสาย” มาตั้งแต่ยังหนุ่ม มีลีลาลูกเล่นทุกแบบอย่างที่เรียบทั้งไหว หรือจะให้สีอย่างโลดโผนสนุกสนานก็ทำได้ดียิ่ง   

ในด้านการส่งเสริมดนตรี ได้เป็นอนุกรรมการจัดบทเรียน บทขับร้อง สำหรับวิทยุโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งเพลงสำหรับวิทยุโรงเรียนหลายเพลง เริ่มจัดรายการโทรทัศน์ ช่อง ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ให้ชื่อว่า “นาฎดุริยางค์วิวัฒน์” แล้วเริ่มงาน ดร.อุทิศ แนะดนตรีไทย ทางไทยทีวีช่อง ๔ และทางทีวีสีช่อง ๕ ตลอดมาเป็นเวลากว่า ๒๕ ปี   

งานสำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ  ได้แต่งตำรา “ทฤษฎีและการปฏิบัติดนตรี ไทย” โดยเขียนลงในวารสารวัฒนธรรมไทยติดต่อกันหลายปี เขียนบทความไว้เป็นอันมากเกินกว่าจะนับได้ มีทั้งประวัตินักดนตรีในอดีต ทฤษฎีซอสามสาย เรื่องมือฆ้องท่านครู หรือแม้แต่เรื่องยาก ๆ เช่น ปี่ ก็ได้เขียนไว้ด้วย นับเป็นผู้ที่มีความตั้งใจส่งเสริมดนตรีไทยเป็นอย่างมาก   

สำหรับการแต่งเพลง ได้ทำทางเดี่ยวเพลงสำหรับเครื่องมือต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก แต่งเพลงเถา  เพลงตับไว้มากมาย อาทิ ตับพระยาโคตรตระบอง ตับราชาธิราช ตอนประหารชีวิตพ่อลาวแก่นท้าว ศึกมังรายมังกะยอชวา ตับเรื่องพระจ้าสามตา เพลงเนื้อเต็มต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น มาร์ชชาวไทย เพลงแรงสามัคคี เชิญรำวง เขมรไทรโยค เขมรพวง แขกเงาะ ฯลฯ ในด้านเพลงเถา ก็มีเพลงยูนนานรำลึก เพลงพม่าแปลงเถา ครุ่นคำนึงเถา โยสลัมเถา ในด้านฝีมือเดี่ยวต่าง ๆ ได้บันทึกเทปเพลงเดี่ยวซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ ขิม ฯลฯ ไว้เป็นจำนวนมาก   

ชีวิตครอบครัวมีภรรยาชื่อ วิไล แต่งงานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ มีบุตรี ๔ คน และบุตรชาย ๑ คน ทุกคนเป็นนักดนตรี และมีความรู้ทางนาฏศิลป์ไทย คือ อังศุมาลย์ อังสนา รณรงค์ จุฑารัตน์ และวิมลมาศ ตามลำดับ ในระยะหลังที่ออกจากราชการแล้วได้เปิดกิจการค้าขายเทปเพลงไทย และเครื่องดนตรีไทยรวมทั้งรับสอนดนตรีด้วยจนกิจการค้ารุ่งเรืองมาก   

ดร.อุทิศ เป็นครูที่มีศิษย์รักใคร่มาก โดยเฉพาะศิษย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งรักและเคารพท่านเสมือนบิดา ในวงการดนตรีไทย ดร.อุทิศเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ได้ค้นคิดระนาดอะลูมิเนียม ระบบครึ่งเสียง ๑๔ เสียง เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน ที่สำคัญที่สุดคือ ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยอย่างจริงใจ วิธีการของท่านประสบผลในการชักนำคนหนุ่มสาวให้หันมาสนใจดนตรีไทย วิธีการของท่านแปลกใหม่  จนนักดนตรีไทยรุ่นเก่า ๆ บางคนมีความเห็นขัดแย้งกับท่าน แต่ ดร.อุทิศก็มีความอดทนต่อสู้อุปสรรคนานาประการจนได้รับการยกย่องทั่วไปว่าเป็นคนดีมีฝีมือ และมีผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง   

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ดร.อุทิศได้รับรางวัลจัดรายการทีวีดีเด่นจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก และได้รับรางวัลตุ๊กตาทองมหาชน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ดร.อุทิศ เริ่มป่วยด้วยโรคของต่อมไทรอยต์ แตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ หลังผ่าตัดแล้วทำให้มีเสียงแหบแห้ง จากนั้นก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งลุกลามขึ้นสมอง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ รวมอายุได้ ๕๙ ปี ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในงานศพตลอดจนพระราชทานเพลิงศพ ณ พลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก ประวัตินักดนตรีไทย อาจารย์เจริญชัย  ชนไพโรจน์ (พ.ศ. ๒๕๑๓) และหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ๒๕๒๖) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.