หวาด บัวทั่ง (พ.ศ. ๒๔๑๘-๒๔๘๕) 

หวาด บัวทั่ง (พ.ศ. ๒๔๑๘-๒๔๘๕) 

หวาด บัวทั่ง

(พ.ศ. ๒๔๑๘-๒๔๘๕) 

 

ครูหวาด  บัวทั่ง  เป็นบุตรของ ครูปั้น และแม่เปลี่ยน บัวทั่ง  เกิดเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ มีน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงมากในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) คือ นายเฉลิม บัวทั่ง ซึ่งมีอายุห่างกันถึง ๓๕ ปี   

เนื่องจากครูปั้น ผู้เป็นบิดา เป็นนักดนตรีอยู่ในบ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ครูหวาด จึงได้เรียนดนตรีจากบิดาตั้งแต่ยังเล็กและได้ติดตามบิดาเข้าไปเล่นดนตรีอยู่ในบ้านเจ้าพระยามหินทร์ ฯ จนโตเป็นหนุ่ม และได้ภรรยาชื่อประนอม ซึ่งเป็นนักแสดงละครคนหนึ่งในบ้านเจ้าพระยามหินทร์ ฯ มีธิดาด้วยกัน ๑ คน ชื่อ ไสว ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับนายเฉลิม บัวทั่ง   

ครูปั้นกับครูหวาด ได้ถวายตัวเป็นนักดนตรีในวังของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๕๐ พร้อม ๆ กับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ซึ่งขณะนั้นท่านพระยา ฯ อายุได้ประมาณ ๔๐ ปี ครูปั้น อายุประมาณ ๕๐ ปี และครูหวาดอายุประมาณ ๓๐ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ กรมหมื่นพิชัยมหินทรโรดมสิ้นพระชนม์ วงดนตรีพระองค์เพ็ญ ก็ยุบลง ครูปั้นกับครูหวาดก็ออกจากวังกรมหมื่นพิชัย ฯ ไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี รับงานปี่พาทย์ทั่วไป จนถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๖๒ ครูปั้นก็ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๖๖ ปี ครูหวาดจึงได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีแทนบิดา   

ครูหวาด มีฝีมือดีในทางปี่พาทย์ สามารถบรรเลงได้รอบวง ได้แต่งเพลงไว้เพลงหนึ่ง ชื่อว่า “เพลงสำเนียงอรชรสามชั้น” เป็นเพลงมีลูกล้อลูกขัด ตอนขึ้นต้นบรรเลงคล้ายเพลงคุณลุงคุณป้าตอนกลางคล้ายเพลงนางครวญ เป็นเพลงสองท่อนแบบลดเสียง นำมาใช้บรรเลงเป็นเพลงโหมโรงได้ไพเราะ น่าฟังมากเพลงหนึ่ง  

ศิษย์ของครูหวาด นอกจากนายเฉลิม ผู้น้องชายแล้ว ยังมี นายปุ่นและนายแถม คงศรีวิไล โดยเฉพาะนายแถม ได้เรียนปี่จากครูหวาดจนมีฝีมือดีมาก   

เมื่อเข้าสู่วัยชรา  ครูหวาดได้มอบวงดนตรีของท่านให้นายเฉลิมและนางไสวควบคุมต่อมา ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ รวมอายุได้ ๖๗ ปี 

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล  

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สยามรัฐ รายวัน ประจำวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ และคำบอกเล่าเพิ่มเติมของ ครูเฉลิม บัวทั่ง) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.