เหนี่ยว ดุริยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๙๘) 

เหนี่ยว ดุริยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๙๘) 

เหนี่ยว ดุริยพันธุ์

(พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๙๘) 

ครูเหนี่ยว  ดุริยพันธุ์  เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง  ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ณ ตำบลวัดทองนพคุณ อำเภอคลองสาน บิดาชื่อ เนื่อง มารดาชื่อ โกสุมภ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งสิ้น ๔ คน พี่สาว ๒ คนแรกเสียชีวิตแต่อายุยังน้อย มีพี่ชาย ๑ คน ชื่อหน่วง มีความสามารถเล่นดนตรีไทยได้รอบวง   

เนื่องด้วยปู่ของครูเหนี่ยว (ชื่อโนรี) เป็นเจ้าของวงดนตรีไทย ครูเหนี่ยวจึงคุ้นเคยกับเพลงไทยมาตั้งแต่เกิด และได้เริ่มเรียนหนังสือสามัญชั้นต้นที่โรงเรียนวัดทองนพคุณจนอายุ ๑๐ ปี ก็เริ่มร้องเพลงกับวงปี่พาทย์ของปู่โนรี วงปี่พาทย์นี้ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) มักจะมาต่อเพลงให้เป็นประจำ พระยาเสนาะ ฯ เห็นแววว่าเสียงเพราะ จึงได้ส่งเสริมให้ร้องเพลงกับสอนทางขับร้องให้ ครั้นอายุได้ ๑๕ ปี พระยาเสนาะ ฯ ก็ฝากเข้าเป็นนักร้องในกรมปี่พาทย์และโขนหลวงครูเหนี่ยวจึงได้รับราชการตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นนักร้องอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ซึ่งมีนักร้องชายที่มีชื่อเสียงมากประจำอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) หลวงเพราะสำเนียง (ศุข ศุขะวาที) หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) นายเชื้อ นักร้อง และนายเลื่อน จันทรมาณ เป็นต้น  

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชบัณฑิตยสภา ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นองค์นายก ได้ประชุมครูดนตรีไทยทั้งหลายเพื่อทำการบันทึกแผ่นเสียงเพลงไทยไว้ โดยมีบริษัทโอเดี้ยน เป็นผู้ดำเนินการอัดเสียงครูเหนี่ยวได้รับเลือกให้ขับร้องด้วย แต่ยังมิทันได้อัดเสียง ครูก็เกิดเสียงแตกเพราะย่างเข้าสู่วัยรุ่นจึงมิได้ขับร้องอัดเสียงในครั้งนี้ และหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็มิได้มีการรื้อฟื้นเรื่องการอัดเสียงเพลงไทยนี้อีก เมื่อหายเสียงแตกแล้ว ครูเหนี่ยวได้เรียนขับร้องเพิ่มเติมจาก หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) และพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) ต่อมาได้หัดขับเสภาจากหมื่นขับคำหวานด้วย จนสามารถตีกรับขับเสภาได้คล่องแคล่ว ชำนาญ 

เมื่อมีการยุบเลิกกรมมหรสพ ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ครูเหนี่ยวย้ายมารับราชการอยู่ในกรมศิลปากร ซึ่งระยะนั้นละครของหลวงวิจิตรวาทการกำลังรุ่งเรือง ครูจึงต้องปรับตัวเข้าร่วมร้องเพลงไทยสากลด้วยได้เป็นต้นเสียงร้องเพลงปลุกใจอยู่หลายเพลง ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๗๙) ครูก็สมรสกับ คุณแช่มช้อย ดุริยประณีต มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งสิ้น ๖ คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็กมาก ๑ คน ที่เหลืออีก ๕ คนนั้นเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงมากในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ๓ คน คือ สุรางค์ ดวงเนตร และนฤพนธ์ อีก ๒ คน ไม่ยึดอาชีพนักดนตรี หรือนักร้อง แต่ก็มีความสามารถร่วมบรรเลงปี่พาทย์ได้   

ครูเป็นคนพิถีพิถันมากกับการร้องเพลง ท่านขยันฝึกซ้อมเพื่อให้เกิดความไพเราะ แม่นยำ ประกอบกับการมีพรสวรรค์ในการเป็นนักร้องอย่างแท้จริง เสียงร้องเพลงของท่านสดใส ชัดถ้อยชัดคำ ไพเราะนุ่มนวล และเสียงถึงทุกตัวโน้ต อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน เล่าว่า ในการร้องเพลงสำเนียงมอญนั้นการทำเสียงให้เป็นมอญ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นผู้คิดค้นขึ้น แล้วต่อให้ครูเหนี่ยว ปรากฎว่า ครูเหนี่ยว ทำได้ถูกใจท่านมาก จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถทำเสียงมอญได้ดีเท่าครูเหนี่ยวเลย   

ศิษย์ของครูเหนี่ยว มีไม่มากนัก เนื่องจากครูมีงานราชการมากประการหนึ่ง และครูมีอายุสั้นมากอีกประการหนึ่ง เท่าที่นับได้ ได้แก่ ทำนุ วัลลิสุต ศิริ วิชชเวช และ นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว พวกลูก ๆ ของท่านนั้น มีโอกาสได้ต่อเพลงจากท่านน้อยมากเพราะท่านไม่ต้องการให้ลูกเป็นนักร้อง   

ผลงานเพลงของครูส่วนใหญ่เป็นการขับร้อง ซึ่งไม่ใคร่มีการบันทึกเสียงไว้ ในครั้งนั้น เคยอัดเสียงกับห้าง ต.เง็กชวน ๓ เพลง คือ ปราทอง ๓ ชั้น บุหลัน ๒ ชั้น และเขมรไทรโยค ซึ่งตัวครูไม่ชอบผลงานนี้เลย บอกว่าไม่ได้ตั้งใจร้องและกว่าจะอัดเสียงได้ก็ร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเหนื่อย เคยอัดเสียงที่ห้างกมลสุโกศล ๔ เพลง คือเพลงสิงโตเล่นหาง เวสสุกรรม ขอมกล่อมลูก และพม่าเห่ ซึ่งเป็นบทร้องตามประมวลการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ ครูเคยทำแผ่นเสียงของตัวเองขึ้นชุดหนึ่ง คือชุดตับจูล่ง เป็นแผ่นเสียงหน้าสีทอง มีอักษร “น” บนหน้าแผ่น เป็นชุดที่ถูกใจครูมาก อัดเสียงที่ห้างเทพนครเพียงครั้งเดียวแล้วมิได้มีการอัดออกจำหน่ายอีกเลย นอกจากนั้นก็มีแผ่นเสียงเสภาเรื่องกากีอีกชุดหนึ่ง   

เพลงที่ครูชอบร้องมาก ได้แก่ เพลงแขกมอญ ๓ ชั้น และเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา แต่ครูแช่มช้อย ภรรยาของท่านบอกว่า ชอบฟังครูเหนี่ยวร้องเพลงแสนเสนาะเพราะร้องได้เพราะมากจริง ๆ ถึงขนาดนักดนตรีที่บรรเลงอยู่ด้วยกันฟังเพลินจนลืมบรรเลงดนตรีรับทีเดียว   

ครูเหนี่ยวถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ขณะที่มีอายุเพียง ๓๙ ปี ด้วยอุบัติเหตุนับเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของวงการดนตรีไทย 

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล  

(เรียบเรียงจาก บทความเรื่อง “ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ นักร้องเพลงไทยชั้นเยี่ยมของชาติ” ของนายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล ศิลปวัฒนธรรมไทย ฉบับประจำเดือน ธันวาคม ๒๕๒๒ และมกราคม ๒๕๒๓) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.