โสภา เพ็งพุ่ม
(พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๕๓๓)
นางโสภา เพ็งพุ่ม เป็นบุตรีของเจ้าบุรีรัตน์ ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเลย
เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ และโรงเรียนในราชสำนักวังสวนสุนันทา ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๕) รับราชการอยู่ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมรสครั้งแรกกับเจ้าบุญทอง ณ ลำพูน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓
สมรสครั้งที่สองกับนายสุเทพ เพ็งพุ่ม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕
มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น ๕ คน ไม่เป็น ๑ คน คือ
๑. นางทองประภา ณ ลำพูน เล่นซออู้และขับร้อง
๒. นายสุวรรณ ณ ลำพูน ไม่เป็นดนตรี
๓. นายสุดาพร วินิจฉัยกุล เล่นจะเข้
๔. นายสุธี บุญครอง เล่นซออู้
๕. นางพรทิพย์ พุทธาพิพัฒน์ เล่นจะเข้และซอด้วง
เหตุที่ชักนำให้เข้าสู่วงการดนตรี คือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้า ได้นำไปเลี้ยงดูในวัง ทรงโปรดดนตรีไทยมาก และมีพระประสงค์ให้ลูกหลานหัดเรียนให้ชำนาญจึงส่งนางโสภาไปเรียนจะเข้กับครูสังวาลย์ กุลลวัลกี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ เพลงแรกที่เรียนคือ ต้นเพลงฉิ่งต่อมาเรียนเพลงจระเข้หางยาว ครูที่สอนนอกจากครูสังวาลย์ กุลวัลกี แล้ว ยังมีคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และขุนเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) สอนขับร้อง
ความถนัดในด้านดนตรีไทย ถนัดทั้งในด้านการร้องและการบรรเลง เครื่องดนตรีที่ถนัดมากได้แก่ จะเข้ และสามารถที่จะขับร้องพร้อมกับบรรเลงดนตรีไปด้วย
เริ่มถ่ายทอดวิชาดนตรีไทยให้แก่ผู้อื่นเมื่ออายุ ๑๖ ปี ครั้งแรกสอนในวังพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล ต่อมาสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ศิษย์ที่เห็นว่ามีฝีมือใช้ได้ ได้แก่ เด็กหญิงศิริลักษณ์ งามลักษณ์
นางโสภา เป็นช่างจ๊อย (นักร้องเพลงพื้นเมืองเชียงใหม่) เป็นช่างซอ และเป็นช่างฟ้อนด้วย
ออกแสดงดนตรีครั้งแรกเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ที่วังบูรพาภิรมย์ และแสดงฝีมือเดี่ยวครั้งแรก เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ที่วังพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล
พ.ศ. ๒๕๒๕ นางโสภาพักอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๙ ถนนสิงหราช ซอย ๒ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงท้ายของชีวิต นางโสภาได้รับการตรวจวินิจฉัยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ภายหลังการรักษาโรคดังกล่าวที่โรงพยาบาลทำให้มีอาการอัมพาต จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ สิริรวมอายุได้ ๗๕ ปี ๙ เดือน
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ นางโสภา เพ็งพุ่ม)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.