โสภณ ซื่อต่อชาติ
(พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๓๙)
ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่บ้านถนนดำรงรักษ์ กรุงเทพมหานคร ในบริเวณวังวรดิศ บิดาชื่อพลอย มารดาชื่อ จันทร์ บิดามีอาชีพทำเครื่องดนตรีขายและมีวงดนตรีของตัวเอง จึงเป็นสิ่งชักจูงให้ครูโสภณ เข้าสู่วงการดนตรีไทย โดยเริ่มเรียนจากบิดาเป็นคนแรก ด้วยเพลงสาธุการ ต่อมาได้มีโอกาสเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ต่อฆ้องวง และได้ต่อระนาดกับครูโองการ (ทองต่อ) กลีบชื่น ต่อซอด้วงจากครูเปลื่อง ต่อขิมจากครูเจือและครูจิต เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ต่อออร์แกนจาก ครูแคล้ว วัชโรบล และต่อซออู้จาก ครูปลั่ง-ครูไปล่ วนเขจร
ประวัติการทำงาน เริ่มตั้งแต่อายุได้ ๑๓ ปี เป็นมหาดเล็ก สังกัดอยู่ในวงปี่พาทย์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (วงวังบางคอแหลม) จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรี ฯ เสด็จทิวงคต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้เข้ารับราชการในกองหอสมุดแห่งชาติ และด้วยความที่มีความสามารถในทางดนตรีไทย เมื่อหลวงวิจิตรวาทการได้เปิดโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้น จึงได้เชิญครูมาสอนที่โรงเรียนนี้ด้วย (ปัจจุบัน คือวิทยาลัยนาฏศิลป) และ ณ ที่นี้ ครูโสภณ ได้ร่วมงานสอนและร่วมบรรเลงกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูสอน วงฆ้อง ครูละเมียด จิตตเสวี ครูโองการ กลีบชื่น ครูแสวง อภัยวงศ์ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ครูท้วม ประสิทธิกุล และอาจารย์มนตรี ตราโมท ซึ่งบรรเลงเพลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ที่วังพญาไทและศาลาแดงเสมอ ๆ ท่านสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีได้ทุกเครื่อง แต่เมื่อเข้าร่วมวงกันแล้วมักจะรับหน้าที่บรรเลงเครื่องสาย เช่น ซออู้ หรือซอสามสาย และตีเครื่องหนังคู่กับครูโองการ กลีบชื่น ซึ่งเป็นครูผู้ต่อเพลงหน้าพาทย์ให้ด้วย นอกเหนือจากที่ได้รับถ่ายทอดจากคุณครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เช่น เพลงตระนอน ตระนิมิตร และตระหญ้าปากคอก เป็นต้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อหลวงวิจิตรวาทการ ออกจากกรมศิลปากรแล้ว ครูโสภณก็ลาออกจากราชการ ทิ้งงานดนตรีไทยไปค้าขายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเวลาถึง ๒๙ ปีเต็ม ครูมีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์ บรูซ แกสตัน ซึ่งเป็นอาจารย์สอนดนตรีอยู่ที่วิทยาลัยพายัพ อาจารย์บรูซ จึงชักชวนให้เป็นครูสอนดนตรีไทยประจำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ และสอนเรื่อยมาจนบัดนี้ ในระยะที่เป็นครูที่วิทยาลัยพายัพนี้ ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่ดนตรีไทยในต่างประเทศ เช่น ที่ฮ่องกง เกาหลี และเยอรมัน
นอกจากจะชำนาญอย่างยิ่งทั้งในด้านปี่พาทย์และเครื่องสายไทยแล้ว ครูโสภณยังมีความชำนาญในออร์แกนและเปียโนมาก ทั้งด้านการบรรเลงจนถึงซ่อมเครื่องดนตรี เวลาว่างจากการสอนก็ทำเครื่องดนตรีออกจำหน่าย จนเป็นที่นิยม เพราะเครื่องดนตรีที่ท่านทำขึ้นมีคุณภาพดีและสวยงามส่วนผลงานทางด้านการแต่งเพลงนั้น ครูเคยแต่งเพลงนางครวญเถาไว้ ๑ เพลง ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงในวงการดนตรี ได้แก่ ครูประเวช กุมุท และจวงจันทร์ จันทร์คณา เป็นต้น
ครูโสภณ สมรสกับ นางสาวระเบียบ จินตะนานุช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ มีธิดาด้วยกัน ๑ คน ชื่อธารทิพย์ ซื่อต่อชาติ แต่มิได้เจริญรอยในอาชีพดนตรีดังเช่นบิดา ครูโสภณพักอยู่บ้านเลขที่ ๑๔๑ หมู่ ๓ ตำบลดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และสอนดนตรีไทยอยู่ที่ชุมนุมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อยมา จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ซึ่งกรอกรายละเอียดโดย นายโสภณ ซื่อต่อชาติ และบทความ สยามสังคีต ของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.