คุณเฒ่าแก่จีบ
(ไม่ทราบปีที่เกิดและปีที่ถึงแก่กรรม)
คุณเฒ่าแก่จีบ เป็นครูสอนขับร้องอยู่ในวังหลวง สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นเพเดิมจะเป็นบุตรของสกุลใดไม่ปรากฏ เมื่อยังเล็กอยู่ในพระอุปถัมภ์ของ พระองค์เจ้าดวงประภา และพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วได้ย้ายเข้ามารับราชการในวังหลวงเมื่อโตแล้ว ทำราชการดีจนได้ตำแหน่งเป็นคุณเฒ่าแก่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คุณเฒ่าแก่จีบ เป็นครูสอนขับร้องที่มีชื่อเสียงมาก เพราะมีสาว ๆ ชาววังมาฝากตัวเป็นศิษย์หัดขับร้องไม่น้อย และมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏดังปรากฏว่า มีข้าหลวงสาว ๆ ในตำหนักนี้ได้เป็นศิษย์ของท่านหลายคน เช่น คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เยี่ยม สุวงศ์) รวมทั้งเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมรุ่นเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ เล่าว่า ได้ไปฝากตัวหัดร้องเพลงกับคุณเฒ่าแก่จีบ เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๓–๑๔ ปี หัดทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ จนอายุได้ ๑๕ ปี จึงหัดร้องอย่างจริงจัง คุณเฒ่าแก่จีบมีน้ำเสียงนุ่มนวลไพเราะมาก ร่างกายซีกขวาของท่านไม่มีแรง เพราะเป็นอัมพาตอย่างอ่อน เวลาฝึกขับร้องท่านจึงมิได้ตีฉิ่ง แต่ใช้ไม้เรียวฟาดลงบนกระดาน ถ้าตีเบาก็แทนเสียง “ฉิ่ง” ถ้าตีหนัก ๆ ก็แทนเสียง “ฉับ” การหัดร้องนั้น มีทั้งหัดเดี่ยวและหัดเป็นหมู่ และวิธีการทดสอบพื้นเสียงขั้นต้นว่าใครเสียงดีขนาดไหน ท่านใช้วิธีร้องร่าย โดยใช้เนื้อร้องจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ความว่า
เมื่อนั้น จินตะหราวาตีมีศักดิ์
ฟังตรัสขัดแค้นพระทัยนัก นงลักษณ์ผินหลังไม่บังคม
ฯลฯ
ศิษย์ของคุณเฒ่าแก่จีบรุ่นเดียวกับเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ มีหลายคน อาทิเช่น ม.ร.ว.ชมยินดี สุวรรณ คุณอบ อมาตยกุล เป็นต้น คุณเฒ่าแก่เห็นว่าเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ มีแก้วเสียงดีอย่างชนิดที่เรียกว่า ระดับเสียงกรวด จึงเอาใจใส่เคี่ยวเข็ญให้ร้องมาก ๆ เวลาร้องเพลงเป็นหมู่ก็มักจะเรียกให้ขึ้นมานั่งแถวหน้า ท่านชอบสอนให้ร้องเพลงแบบละครมากกว่าเพลงแบบสามชั้น โดยเฉพาะเพลงร่ายแบบต่าง ๆ ลีลาการขับร้องเพลงที่ยาก ๆ เช่น โอ้โลม โอ้บูชากูณฑ์ โอ้ปี่ และเพลงเห่กล่อมแบบต่าง ๆ ท่านเก่งมาก
คุณเฒ่าแก่จีบ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านไม่มีลูกหลาน ศิษย์ของท่านก็มีแต่เป็นหญิงทั้งสิ้น เมื่อแต่งงานไปแล้วก็เลิกร้องเพลงกัน ทางเพลงของท่านจึงเลือนหายไปด้วย เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.