ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มน โกมลรัตน์) (พ.ศ.๒๔๓๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มน โกมลรัตน์) (พ.ศ.๒๔๓๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มน โกมลรัตน์)
(พ.ศ.๒๔๓๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มน โกมนรัตน์) เกิดเมื่อวันเสาร์ ขี้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ ตำบลวัดพิกุล ธนบุรี บิดา ชื่อ นวม มารดาชื่อ สุ่น เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบางจาก จนอ่านออกเขียนได้

เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๖) เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กเวรฤทธิ์ หน้าที่พนักงานพิณพาทย์หลวง รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๖ บาท นับเป็นข้าหลวงเดิมที่ถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มีความสามารถทางดนตรี เล่นเครื่องตี เช่น ระนาด ฆ้อง และกลองได้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก พนักงานพิณพาทย์ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อายุได้ ๒๔ ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นสำเนียงชั้นเชิงเงินเดือน เดือนละ ๓๕ บาท แล้วเลื่อนเป็น ขุนสำเนียงชั้นเชิงเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔๐ บาท ต่อจากนั้นจึงย้ายมาสังกัดกองเครื่องสายฝรั่งหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๗ อยู่ต่อมาจนกรมมหรสพเปลี่ยนมาเป็นกรมศิลปกร ก็ได้เป็นครูสอนดนตรีมาตลอด

อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าว่า ขุนสำเนียง ชั้นเชิงเป็นครูที่ดีเคยสอนนักดนตรีสากลมามากมายหลายคน อาทิ โฉลก เนตตสูตร เมล์ เอื้อเฟื้อ สังข์ อสัตวาวี และเอื้อ สุนทรสนาน เป็นต้น ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๑ ที่มีการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลนั้น ขุนสำเนียงชั้นเชิงได้ร่วมมือเขียนตำรา และโน้ตเพลงด้วย นับเป็นผู้มีความสามารถคนหนึ่ง แต่งงานมีภรรยาชื่อ ทุเรียน

ขุนสำเนียงชั้นเชิง มีน้องชายร่วมบิดามารดาชื่อ มิ่ง โกมลรัตน์ ซึ่งก็เป็นนักดนตรีอยู่วงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร เช่นเดียวกัน (มีหน้าที่สีเชลโล่) สำหรับตัวขุนสำเนียงชั้นเชิงนั้น มีประวัติว่ารับราชการมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลังจากที่ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาแล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๘๒  ก็หายสาบสูญไป ญาติพี่น้องตามหาไม่พบจึงไม่ทราบว่าบั้นปลายชีวิตของท่านเป็นอย่างไร

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติของ กรมศิลปากร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.