สอน วงฆ้อง
(พ.ศ.๒๔๔๕-๒๕๑๘)
ครูสอน วงฆ้อง เป็นบุตรของนายขันและนางนิ่ม เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ ที่บ้านเจ้าเจ็ด จังหวัดอยุธยา
การศึกษาวิชาดนตรีของครูสอนนั้น เริ่มต้นกับ ครูทอง ฤทธิรณ ครูปี่พาทย์ในละแวกบ้าน ครั้นต่อมาจึงได้เป็นศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เจ้ากรมปี่พาทย์หลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยครูสอนเป็นคนมีไหวพริบปฏิภาณและความเฉลียวฉลาดแม่นยำมั่นคงยิ่งนัก จึงได้วิชาความรู้ทางดนตรีจากพระยาเสนาะฯ มากที่สุด มีเป็นหลายครั้งที่พระยาเสนาะฯ บอกเพลงให้ครูสอนแล้วมอบหมายให้เป็นผู้สอนนักดนตรีคนอื่น ๆ ต่อไปอีกทอดหนึ่ง
หน้าที่การงานของครูสอน เริ่มต้นตั้งแต่ เจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในรัชกาลที่ ๖ ไปขอตัวมาเป็นคนฆ้องประจำวงปี่พาทย์ที่บ้านของท่าน ครั้นอายุครบเกณฑ์ ก็เข้ารับราชการเป็นทหารรักษาวังรุ่นเดียวกับครูเทียบ คงลายทอง ครูมิ ทรัพย์เย็น เป็นต้น พ้นราชการทหารแล้วจึงเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงได้โอนมาสังกัดกรมศิลปากรจนเกษียณอายุราชการ และได้รับการจ้างต่อให้เป็นครูพิเศษในวิทยาลัยนาฎศิลป จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๑๘ ด้วยโรคหัวใจ สิริอายุได้ ๗๔ ปี
ผลงานและความสามารถทางดนตรีของครูสอนยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าครูเทียบ คงลายทอง ครูมิ ทรัพย์เย็น ครูพริ้ง ดนตรีรส และครูคนอื่น ๆ ที่เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ครูสอนเล่นเครื่องปี่พาทย์ได้อย่างดีทุกเครื่องมือยกเว้นปี่ แต่ที่ดีเด่นเป็นพิเศษคือฆ้องวงใหญ่ จนถึงกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสประทานนามสกุลให้ว่า “วงฆ้อง” เพราะตีฆ้องดีนัก ครูสอนมีความแม่นยำเป็นเลิศในคุณสมบัติของฆ้องวงใหญ่ คือ แม่นเพลง แม่นปุ่ม และแม่นจังหวะ อันว่าเพลงไทยทั้งปวงนั้นมีจำนวนมิใช่น้อย ทั้งแต่ละเพลงก็มีความยาวยอกย้อนประกอบด้วยเงื่อนงำหักต่อเป็นแห่ง ๆ ไป อีกประการหนึ่งดนตรีไทยไม่ใช้โน้ต แต่นิยมท่องจำเพลงกันเป็นสำคัญ ทั้งเมื่อเวลาไปงานทั่วไปนั้นก็มิได้มีการซักซ้อมกันล่วงหน้า สุดแต่คนระนาดจะนึกเพลงขึ้นตามปรารถนา ดังนั้นโอกาสที่คนตีฆ้องจะตีพลาดย่อมมีอยู่เสมอ ๆ แต่ครูสอนไม่เป็นเช่นนี้ คนระนาดตั้งเพลงขึ้นเมื่อใด ครูสอนก็จะรับและบรรเลงต่อไปจนหมดกระบวนโดยไม่ขาดไม่เกินหรือบกพร่องแต่ประการใด ครูพริ้ง ดนตรีรส คนระนาดฝีมือเยี่ยมบอกกับผู้เขียนเสมอว่า “มีสอนไปด้วย ผมไม่กลัวใคร” ครั้นเมื่อสิ้นครูสอน ก็ปรารภว่า “หมดสอนเสียคนหนึ่ง ผมไม่อยากตีระนาด” เพราะครูสอนเป็นที่อุ่นใจ เป็นหลักของวงได้วิเศษนัก ที่ว่าแม่นปุ่มก็คือแม่นคู่แปดและตีลงถูกปุ่มฆ้องทุกครั้งไม่พลาดไปโดนฉัตรหรือที่อื่น ๆ สำหรับการแม่นจังหวะนั้นเป็นคุณสมบัติของคนฆ้องซึ่งจะต้องยืนจังหวะไว้ให้มั่น ไม่รุกหน้าหรือล้าหลัง ไม่ว่าจะถูกเหลื่อมถูกล้อเช่นไร เหล่านี้ครูสอนมีครบถ้วนอย่างดีเลิศ นอกจากนี้ครูสอนยังได้สมญาว่าเป็น “ตู้เพลง” ของวงการดุริยางค์ไทย เพราะไม่ว่าจะเรียกถามเพลงใด อันมีมาแต่โบราณ เป็นได้ครบจนถ้วนทุกเมื่อไม่มีพลาดเสมือนหนึ่งค้นหาหนังสือในตู้เก็บหรือจ่อเข็มลงบนแผ่นเสียงฉะนั้น ครูสอน เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่ามีศาสตราจารย์ทางดนตรีจากประเทศอังกฤษท่านหนึ่งเดินทางมาประเทศไทย และได้มาติดต่อขอให้ครูสอนตีฆ้องให้ฟัง เมื่อตีจบ ศาสตราจารย์ผู้นั้นได้กล่าวขึ้น มีความว่าดนตรีไทยเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ชาติไทยเป็นชาติที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก่อนตะวันตก ขอให้รักษาแนวทางดนตรีอันวิเศษนี้ไว้ให้จงดี อย่าให้อิทธิพลของตะวันตกมาบิดเบือนให้เสียรูปไปดังเช่นประเทศทั้งหลายในเอเชีย
เมื่อครั้งมีการประชันวงปี่พาทย์ ณ วังบางขุนพรหม ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ครูสอนเข้าตีฆ้องใหญ่ ประชันกับครูช่อ สุนทรวาทิน คนฆ้องของท่านจางวางทั่ว พาทยโกศล ผลการตัดสินปรากฎว่าครูช่อ ได้ที่ ๑ ความเรื่องนี้ครูพริ้ง ดนตรีรส เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ได้ยินพระยาประสานดุริยางค์ศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เจ้ากรมปี่พาทย์หลวงในรัชกาลที่ ๖ กล่าวว่า “นายสอนไม่แพ้ฝีมือ แต่แพ้ที่ฆ้อง” ทั้งนี้เพราะวงจางวางทั่ว พาทยโกศล ใช้ฆ้องใหญ่ที่ชื่อ “เขียวหวาน” อันเป็นฆ้องเนื้อดีเลิศ เสียงเป็นยอด ใช้เฉพาะในการประชันเท่านั้นเข้าแข่งขัน ดังนั้นแม้ฝีมือจะก้ำกึ่งก็ยังได้เปรียบ
ครั้งหลังสุด กรมศิลปากรได้เชิญครูสอนตีฆ้องเพลงเดี่ยวต่าง ๆ เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ครูสอนก็ให้ความร่วมมือด้วยดี โดยมิได้ปิดบังอำพรางความรู้แต่อย่างใด แม้จะปรารภกับผู้เขียนอยู่เป็นหลายครั้งว่า “เหนื่อยเหลือเกิน อยากให้เสร็จเสียที” โดยที่อายุมากแล้วในการอัดเสียงครั้งสุดท้ายที่ห้องอัดเสียงของพลตำรวจตรีวิลาส หงสเวส ซอยนวลน้อย เอกมัย ครูสอนตั้งใจจะอัดเสียงเพลงที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น จึงอัดเสียงตั้งแต่เช้าจนเหน็ดเหนื่อย เมื่ออัดถึงเพลงกราวใน ซึ่งเป็นเพลงที่ยาวและใช้กำลังอย่างมาก ยังไม่ทันจบ ครูสอนก็สิ้นใจในวงฆ้องนั้นเอง
ผลงานคีตนิพนธ์ของครูสอน มีดังนี้
เดี่ยวฆ้องใหญ่เพลง นกขมิ้น ต่อยรูป ดอกไม้ไทร อาเฮีย สุดสงวน นารายณ์แปลงรูป ฉิ่งมุล่ง และทยอยเดี่ยว (แต่งร่วมกับพระยาเสนาะดุริยางค์)
เดี่ยวระนาดเอกเพลง ลาวแพน ทยอยเดี่ยว
ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับนางเยื้อน มีบุตรธิดา ๓ คน คือ สายหยุด (หญิง) พรทิพย์ (หญิง) และชูเกียรติ (ชาย)
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสอน วงฆ้อง และคำบอกเล่าของ ครูพริ้ง ดนตรีรส)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.