สวง เอี่ยมแม้น
(พ.ศ. ๒๔๖๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)
นายสวง เอี่ยมแม้น เป็นบุตรนายวาด นางอิง เอี่ยมแม้น เกิดที่กิ่งอำเภอหนองแขม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ บิดามารดามีอาชีพหลักในการทำสวน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก ๓ คน ชื่อ รำจวน สงวน และอนงค์ ไม่มีใครที่เป็นนักดนตรี
เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดม่วง บางแค จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ในระหว่างนี้ ได้เริ่มหัดดนตรีกับบิดาโดยเริ่มเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ (อายุ ๑๐ ปี) จนสามารถบรรเลงเพลงร่วมวงกับบิดา ออกงานต่าง ๆ ได้
ต่อมาได้ต่อเพลงเพิ่มเติมกับครูจำรัส หมอยา โดยเรียนฆ้องวงใหญ่แล้วต่อตับพรหมมาศ กับเพลงเถาต่าง ๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เข้ามาเป็นศิษย์ของ ครูโชติ ครูชื้น และครูชั้น ดุริยประณีต ต่อระนาดเอกได้ จนถึงเดี่ยวทุกอย่าง และเล่นดนตรีปี่พาทย์ได้คล่องแคล่วมาก รวมทั้งได้เรียนหน้าพาทย์ สามารถบรรเลงประกอบการแสดงโขนละครได้เป็นอย่างดี
เริ่มแสดงฝีมือเดี่ยวเพลงด้วยระนาดและฆ้องใหญ่ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี และแสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกทางวิทยุกระจายเสียงครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๘ ปี โดยออกอากาศที่วิทยุศาลาแดง
ได้ร่วมงานกับคณะดุริยประณีต อัดแผ่นเสียง โดยมีครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ เป็นผู้ขับร้องหลายครั้งที่ห้างแผ่นเสียง ต. เง็กชวน เช่น แผ่นเสียงชุดตับจูล่ง เป็นต้น
เริ่มสอนดนตรีให้แก่เด็กในวงดนตรีของตนเองตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้บรรพชาที่วัดม่วง (บางแค) พรรษาหนึ่ง โดยมีพระวิเชียรกลี (วัดหน้า) เป็นอุปัชฌาย์ มีภรรยาชื่อ จำรัส สกุลเดิม รักเหรียญ มีบุตร ๙ คน ชาย ๒ หญิง ๗ ไม่มีใครเรียนดนตรีตามบิดา
ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ อยู่บ้านเลขที่ ๒๔ หมู่ ๘ แขวงบางแค เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ซึ่งให้ข้อมูลโดย นายสวง เอี่ยมแม้น)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.