หลวงสร้อยสำเนียงสนธ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๙๐) 

หลวงสร้อยสำเนียงสนธ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๙๐) 

หลวงสร้อยสำเนียงสนธ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน)

(พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๙๐) 

 

หลวงสร้อยสำเนียงสนธ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน) เป็นบุตรคนรองของนายอ่ำ และนางบัว วัฒนวาทิน มีพี่ชายชื่อ นาค (ต่อมาได้เป็นที่หลวงพวงสำเนียงร้อย) บ้านเดิมอยู่หลังวัดดุสิตาราม ตำบลบางกอกน้อย กรุงเทพ ฯ  เกิดเมื่อวันพุธขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่อยังเล็กได้เรียนหนังสือกับสมภารแสง แห่งวัดน้อยทองอยู่ รุ่นเดียวกับหลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน)  ขุนเพลินเพลงประเสริฐ (จี่ วีณิน) และขุนเพลิดเพลงประชัน (บุศย์ วีณิน) ทั้งหมดนี้ได้เป็นศิษย์รุ่นเล็กของครูช้อย สุนทรวาทิน ซึ่งสมภารแสงได้เชิญมาเป็นครูสอนประจำอยู่ที่วัดน้อยทองอยู่ ต่อมาครูช้อยมีธุรกิจในการสอนดนตรีในวังมากขึ้น จึงได้ต่อเพลงจากนักดนตรีรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์ครูช้อยและเป็นหลานรักของสมภารแสง มีนามว่า นายแหยม  วีณิน (ต่อมาได้เป็นที่พระประดับดุริยกิจ) จนมีความสามารถตีระนาดและฆ้องได้ดี    

พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุได้ ๑๔ ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทำหน้าที่เป็นพนักงานพิณพาทย์ส่วนพระองค์ ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท และได้เป็นที่ ขุนสร้อยสำเนียงสนธ์ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔๐ บาท  ทำหน้าที่เป็นคนตีฆ้องใหญ่ประจำวง มีความรู้ทางเพลงดีและมีฝีมือดีพอประมาณ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงสร้อยสำเนียงสนธ์ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕   

หลวงสร้อยสำเนียงสนธ์ ได้รับพระราชทานนามสกุล “วัฒนวาทิน” ตามประกาศ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามชั้นที่ ๕ เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๕ ฯลฯ ในรัชกาลที่ ๗ ได้ลาออกจากราชการแล้วย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด  ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๐๕.๐๐ น. ด้วยโรคไข้มาเลเรีย 

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของ อาจารย์มนตรี ตราโมท) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.