ขุนสมานเสียงประจักษ์ (เถา สินธุนาคร) (พ.ศ. ๒๔๓๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนสมานเสียงประจักษ์ (เถา สินธุนาคร) (พ.ศ. ๒๔๓๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนสมานเสียงประจักษ์ (เถา สินธุนาคร)

(พ.ศ. ๒๔๓๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

ขุนสมานเสียงประจักษ์  มีนามเดิมว่า  เถา  สินธุนาคร บิดาชื่อ สิน มารดาชื่อ มี สืบเชื้อสายนักดนตรีมาจากบิดาคือ ครูสิน และตระกูลของท่านมีอาชีพนักดนตรี  มีเสภาโขนละครติดต่อกันมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

นางมี ผู้เป็นมารดา นับญาติเป็นน้องของหลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) นักร้อง นักแหล่เทศน์และคนเห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ นางมีเป็นบุตรของนายเทศ และนางผิว ซึ่งมีเชื้อสายดนตรีและละครเช่นเดียวกับญาติฝ่ายบิดา

ขุนสมานฯ เกิดที่ตำบลวังหลัง (บ้านขมิ้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ ฯ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ ปีมะเส็ง  พ.ศ. ๒๔๓๖ (แต่ในประวัติราชการ บันทึกไว้ว่า เกิดวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ซึ่งไม่ตรงกับที่ท่านให้สัมภาษณ์) เริ่มเรียนหนังสือที่วัดระฆังโฆสิตาราม และเรียนดนตรีจากท่านบิดามาตั้งแต่เล็ก จนสามารถตีระนาด ตีฆ้อง และตีกลองหน้าทับประกอบการแสดงโขนและละครได้ตั้งแต่อายุราว ๑๐ ปี

เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี บิดาได้ส่งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนตัวที่วังบ้านหม้อ อันเป็นแหล่งรวมนักปี่พาทย์โขนละคร ของกรมมหรสพหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เจ้ากรมมหรสพในสมัยนั้น  ที่วังบ้านหม้อนี้เอง ท่านได้ต่อเพลงจาก พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) และต่อระนาดจาก ขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ได้เป็นเพื่อนตีระนาดรุ่นเดียวกับนายศุข  ดุริยประณีต

หลังจากอยู่ที่วังบ้านหม้อได้ไม่นาน  หม่อมเจ้าถูกถวิล สุขสวัสดิ์ ได้มาเห็นฝีมือว่า อายุเพียง ๑๒ ปี ก็สามารถเล่นปี่พาทย์ได้รอบวง จึงนำตัวเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม  แต่ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ ทรงนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ขุนสมาน ฯ เป็นเด็กในสังกัดกรมมหรสพใต้บังคับบัญชาของท่านอยู่ก่อน เพราะมาเข้าเวรแทนบิดาคือ นายสิน ที่วังบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินว่า ขุนสมาน ฯ ควรกลับไปสังกัดเดิมที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์ เริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นมหาดเล็กพิณพาทย์เวรฤทธิ์ รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๘ บาท จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ จึงได้เพิ่มเป็นปีละ ๑๒ บาท

พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ย้ายมาสังกัดกรมพิณพาทย์หลวง กรมโยธามหาดเล็ก เงินเดือน ๒๐ บาท แล้วย้ายมาสังกัดกรมมหรสพ กระทรวงวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เงินเดือน ๒๕ บาท อยู่มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔๕ บาท

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวงขึ้นนั้น ขุนสมานได้ไปเรียนดนตรีสากลกับ นาซารี นักดนตรีชาวอิตาเลียน  ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงจัดให้เข้ามาสอนแตรวงทหารมหาดเล็ก ได้เริ่มเรียนโน้ตสากล หัดเล่นเปียโน เป่าปี่ และได้มาเรียนต่อกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยากร) จนสามารถอ่านและเขียนโน้ตสากลได้คล่องแคล่วชำนาญ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเสือป่าพรานหลวงขึ้น และทรงปรารภจะมีวงดนตรีประจำกองเสือป่าพรานหลวงนี้ พระเจนดุริยางค์ได้กราบทูลว่า ควรจะใช้วงปี่สก็อต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อปี่สก็อตเข้ามา ๖ ชุด ขุนสมาน ฯ ได้หัดเป่าปี่สก็อตตั้งแต่ครั้งนั้น นับเป็นนักเป่าปี่สก็อตรุ่นแรกแห่งประเทศไทย

ขุนสมานฯ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นสมานเสียงประจักษ์ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้มีการปรับขั้นเงินเดือนใหม่ แต่แทนที่จะได้เงินเดือนเพิ่มกลับลดลงเหลือเดือนละ ๔๐ บาท (เดิมได้ ๔๕ บาท) แล้วได้รับเพิ่มเป็น ๔๒ บาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงย้ายมาสังกัดหมวดดุริยางค์สากล แผนกละครและสังคีต กองศิลปวิทยาการ กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๔๒ บาท เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐

ท่านเป็นผู้มีฝีมือดนตรีรอบตัว ทั้งดนตรีไทยและสากล รวมทั้งสามารถขับร้องตีกรับขับเสภาได้ด้วย สมัยเมื่อท่านเป็นหนุ่ม เคยเข้าไปเล่นดนตรีกับครูเหลือ ซึ่งเป็นครูคุมวงดนตรีอยู่กับครูปั้น ในวังของกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม จนต่อมาเคยถวายการสอนเปียโนแก่ ม.จ. พรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ (กฤดากร) พระธิดาของกรมหมื่นพิชัยฯ

ในสมัยที่กรมศิลปากรต้องนำวงดนตรีออกมาบรรเลงที่ท้องสนามหลวงในโอกาสวันนักขัตฤกษ์ ขุนสมานฯ มีหน้าที่ต้องไปร่วมบรรเลงด้วยเป็นประจำทั้งวงไทยและวงสากล และเมื่อโรงเรียนวชิราวุธเริ่มมีวงปี่สก็อต  ขุนสมานฯ ก็ได้เข้าไปเป็นครูสอนด้วย

ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ขุนสมานฯ มีอายุ ๙๑ ปี พักอยู่ที่บ้านซอยศาลาต้นจันทร์ บ้านขมิ้น  ยังมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถเล่าเรื่องเก่า ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าในด้านดนตรีเป็นอย่างยิ่ง

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ขุนสมานเสียงประจักษ์ และเอกสารทะเบียนประวัติของกรมมหรสพ)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.