หม่อมส้มจีน
(พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๕๔)
หม่อมส้มจีน เป็นภรรยาคนหนึ่งแต่มิใช่ภรรยาคนแรกของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ) เป็นนักร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่ทราบว่าเป็นบุตรีของท่านผู้ใด คาดว่าจะเกิดในปลายรัชกาลที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๐ – พ.ศ. ๒๔๐๕ เมื่อเป็นเด็กได้เข้ามาอยู่ในบ้านพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ) ณ ตำบลคลองบางหลวง บริเวณคลองซอยทางเข้าคลองบางไส้ไก่ ธนบุรี ได้ฝึกหัดร้องละครแต่ครั้งนั้น เนื่องจากเป็นคนเสียงดี จึงมีชื่อเสียงมาตั้งแต่อายุยังน้อย และได้ต่อเพลงสามชั้นกับครูแปลก ประสานศัพท์ (พระยาประสานดุริยศัพท์) และได้ชื่อว่าเป็นคนร้องเพลงสามชั้นดีมากคนหนึ่ง เคยร้องเพลงอยู่ในวังบูรพาภิรมย์ด้วย
เมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้หัดดนตรีแก่ข้าหลวง ณ พระตำหนักในวังหลวง ราว พ.ศ. ๒๔๔๐ – พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้น ครูแปลก ได้เข้าไปสอนดนตรี และหม่อมส้มจีนได้เข้าไปสอนขับร้อง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ได้ตั้งวงมโหรีหญิงขึ้น โดยมีขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นครูผู้ควบคุม เนื่องจากไม่มีครูสอนขับร้องเพลงสามชั้น พระอัครชายาฯ จึงทรงขอตัวหม่อมส้มจีนเข้ามาเป็นครูสอนขับร้องที่พระราชวังดุสิต จึงได้เป็นครูของ เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ครูของนางสาวเยี่ยม ณ นคร (ต่อมาเป็นคุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี เยี่ยม สุวงศ์ นักร้องมีชื่อ) รวมทั้งเป็นครูของ ครูท้วม ประสิทธิกุล ด้วย ส่วนศิษย์ที่เป็นนักร้องชาย เท่าที่ทราบมีเพียงผู้เดียว คือ นายหยิน (ต่อมาเป็นที่ขุนลิขิตสุนทร) เป็นนักร้องประจำอยู่แตรวงกองทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ ๕
เนื่องจากมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (พระยาประสานฯ เกิด พ.ศ. ๒๔๐๓) และเล่นดนตรีด้วยกันเป็นประจำ จึงเข้าออกวังบูรพาภิรมย์อยู่เสมอ ได้ร่วมงานบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงร่วมกับพระยาประสานฯ และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง เมื่อครั้งยังใช้ชื่อว่า นายสอน) มาตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเสียงในเมืองไทยใหม่ ๆ จนได้ชื่อว่า เป็นนักร้องหญิงไทยคนแรกที่ได้บันทึกเสียงลงกระบอกเสียง แบบเอดิสัน
ผลงานของหม่อมส้มจีน ต่อมาได้บันทึกเป็นจานเสียงกับบริษัท International Talking Machine เป็นแผ่นเสียงโอเดี้ยน ตราตึก จำนวนมาก ปรากฎบนหน้าแผ่นเสียงว่า ใช้พิณพาทย์วงนายแปลก นายสอน ซึ่งก็คือ วงของวังบูรพาภิรมย์นั่นเอง เพลงที่บันทึกไว้มี ตับนางลอย เขมรใหญ่ ๓ ชั้น ลมหวน ๓ ชั้น มโหรีตับแขกมอญ มาลีหวน ๓ ชั้น แสนเสนาะ ๓ ชั้น บุหลัน ๓ ชั้น ใบ้คลั่ง ๓ ชั้น ครั้นครูแปลกได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนประสานดุริยศัพท์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ หม่อมส้มจีนได้อัดแผ่นเสียงรุ่นหลังสุดกับบริษัทพาโลโฟนและแผ่นเสียงตรารามสูร-เมขลา ชุดนี้มีมโหรี ตับทะแย ต่อยรูป ๓ ชั้น การเวก ๓ ชั้น ลมหวน ๓ ชั้น ชมดงนอก แขกมอญ ๓ ชั้น ทยอยนอก ๓ ชั้น สี่บท ๓ ชั้น เชิดจีน บุหลัน ๓ ชั้น จระเข้หางยาว ฯลฯ อีกมากมาย จึงได้ชื่อว่า เป็นต้นตำรับการขับร้องเพลงสามชั้นในสมัยรัชกาลที่ ๕
น้ำเสียงของหม่อมส้มจีนนั้น แหลมเล็ก ร้องเพลงชัดถ้อยชัดคำ ลีลาการเอื้อนละเอียดละออหมดจด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดว่า ร้องเพลงดีและทรงคุ้นเคยจนถึงบันทึกชื่อหม่อมส้มจีนไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน
ชีวิตสมรสของหม่อมส้มจีนไม่สู้จะราบรื่นนัก เนื่องจากท่านพระยาผู้สามีนิยมเล่นการพนัน ภายหลังต้องพระราชอาญาและยากจนลงมาก หม่อมส้มจีนต้องออกหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว แต่ท่านก็ยังรักและเคารพท่านเจ้าคุณสามีอยู่มาก เข้าใจว่าท่านเจ้าคุณจะถูกถอดยศ เพราะปรากฎว่าท่านเอ่ยนามของเจ้าคุณสามีว่า “ท่านผู้นั้น” มิได้เรียกว่า “เจ้าคุณ” เยี่ยงภรรยาทั่วไปจะพึงเรียกในการยกย่องสามี หม่อมส้มจีนมิได้มีบุตรกับเจ้าคุณเลย
ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต หม่อมส้มจีนได้กลับเข้าไปช่วยงานในวังหลวง พักอยู่ที่ตำหนักพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เพื่อช่วยงานครัวและร้อยดอกไม้ ซึ่งจะต้องทำเป็นประจำทุกวัน ด้วยงานพระบรมศพยังมีติดต่อกันอยู่ ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ขณะอยู่ในวังหลวงท่านป่วยด้วยโรคอหิวาต์ ท้องเสียอย่างแรง เพียงคืนเดียวอาการก็เพียบหนัก เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ได้ตามหม่อมเพื่อน (ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นเพื่อนรักของหม่อมส้มจีน มารับตัวออกจากวังไปอยู่กับหม่อมเพื่อน ได้วันเดียวก็ถึงแก่กรรม รวมอายุได้ ประมาณ ๕๐ ปี.
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ในรัชกาลที่ ๕ และครูท้วม ประสิทธิกุล อาจารย์มนตรี ตราโมท คุณลาวัณย์ โชตามระ และจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเหมวดี พ.ศ. ๒๕๑๘)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.