ขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี) (พ.ศ. ๒๔๔๒-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี) (พ.ศ. ๒๔๔๒-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี)

(พ.ศ. ๒๔๔๒-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

ขุนสนิทบรรเลงการ (จง  จิตตเสวี) เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นบุตรของหลวงคนธรรพวาที (จ่าง จิตตเสวี) และนางเทียบ  เป็นน้องชายของพระยาภูมีเสวิน (จิตร  จิตตเสวี)  เมื่อยังเล็กได้เรียนหนังสือที่วัดช่างเหล็ก ต่อเพลงจากท่านบิดามาแต่เล็ก  เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุเพียง ๖ ปี ได้เข้ารับราชการถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ สมัยเมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๕ บาท จนอายุ ๑๘ ปี จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสนิทบรรเลงการ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ อยู่ในตำแหน่งนี้ตลอดมาจนออกจากราชการเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙

ขุนสนิทบรรเลงการ เป็นคนมีฝีมือดีในทางเครื่องสาย  สีซอไพเราะมาก  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายไปเป็นนักสีไวโอลิน ๑ ของวงเครื่องสายฝรั่ง แล้วไม่ได้ย้ายกลับมาแผนกดนตรีไทยอีก มีบุตรกับ ครูละเมียด จิตตเสวี (จะเข้) ๑ คน ชื่อ เจริญ จิตตเสวี ไม่เป็นนักดนตรี

ไม่มีการบันทึกไว้ว่า ท่านถึงแก่กรรมเมื่อใด

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติของกรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.