ลิ้ม ชีวะสวัสดิ์ (พ.ศ. ๒๔๔๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ลิ้ม ชีวะสวัสดิ์ (พ.ศ. ๒๔๔๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ลิ้ม ชีวะสวัสดิ์

(พ.ศ. ๒๔๔๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นายลิ้ม  ชีวะสวัสดิ์  เป็นชาวตลาดพลู  เกิดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖  บิดามีนามว่า จ่าง มารดามีนามว่า จั๊ง ทั้งบิดาและมารดามีอาชีพทำสวน  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน ๕ คน พี่ชายคนโต ชื่อ ไทย เป่าปี่คลาริเน็ตได้  คนที่ ๒ เป็นหญิง ชื่อ เจียร ไม่เล่นดนตรี คนที่ ๓ ชื่อ นายลิ้ม มีความสามารถในการสีซอด้วง และดีดกระจับปี่  คนที่ ๔ ชื่อ นางพรหม เป็นคนซออู้ประจำวงพระสุจริตสุดา คนที่ ๕ ชื่อ นายเฉลิม เล่นซออู้และกระจับปี่  

สมรสกับนางสาวฉวี  เลี่ยมทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕  มีบุตรธิดาด้วยกันรวม ๘ คน ไม่มีบุตรหรือธิดาคนใดเป็นนักดนตรีเลย  

เริ่มต้นการศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดอินทาราม ตลาดพลู ธนบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนสุขุมาลัย ธนบุรี จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ จากนั้นเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จ จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖  อุปสมบทที่วัดอินทาราม (ใต้) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นเวลา ๑ พรรษา โดยมี เจ้าคุณทักษิณคณิศรเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อจบการศึกษาแล้ว เข้ารับราชการในกรมรถไฟ ฝ่ายช่างกล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เลื่อนมาเป็นหัวหน้าแผนกกองโรงงาน พ.ศ. ๒๔๘๙ และรับราชการที่กรมรถไฟนี้จนเกษียณอายุ  

การศึกษาวิชาด้านดนตรีนั้น เริ่มเรียนครั้งแรกเมื่ออายุ ๒๕ ปีแล้ว มีสาเหตุเนื่องมาจากประทับใจในเสียงดนตรีที่ชาวจีนแถวตลาดพลูบรรเลงกันอยู่เสมอและได้ติดตามชมการบรรเลงดนตรีทั้งไทยและโยธวาทิตที่หน้ากระทรวงกลาโหม และเชิงสะพานพุทธยอดฟ้า  เวลามีงานเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำ จึงได้ไปเรียนซอด้วงจาก ส.ต.ท. น้อม ปิ่นจันทร์ เริ่มด้วยเพลงเขมรพวง แขกปัตตานี จนสามารถสีเพลงสุรินทราหู หกบท และเพลงสารถี ได้ดี จากนั้นมีโอกาสได้เรียนเพิ่มเติมจากครูทรัพย์ นุตสถิตย์ ซึ่งท่านต่อเพลงแขกลพบุรี  เขมรราชบุรี แขกโอด และเพลงพญาโศกให้ โดยยึดถือทางบรรเลงของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) แล้วมาได้เพลงนกขมิ้น แขกมอญ และมอญรำ จากครูผ่อง แก้วโปร่งงาม นอกจากซอด้วงแล้ว นายลิ้ม ยังได้เรียนการดีดกระจับปี่จากศาสตราจารย์ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ จนดีดได้ดี สามารถดีดกระจับปี่เดี่ยวเพลงลาวแพน เพลงกราวใน ๓ ชั้น  พญาโศก และเพลงมู่ล่ง ได้ไพเราะนัก เคยบรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ ๑ ป.ณ. และได้รับเชิญให้ไปสาธิตการดีดกระจับปี่ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เคยเดี่ยวกระจับปี่เพลงลาวแพน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๖) และบรรเลงร่วมกับวงดนตรีไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อยู่เสมอ ผลงานทางด้านการบรรเลงเพลงที่ท่านภาคภูมิใจนักหนาก็คือความสามารถบรรเลงเดี่ยวกระจับปี่ เพลงลาวแพน เพลงกราวใน ๓ ชั้น  เพลงพญาโศก และเพลงมู่ล่ง 

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของนายลิ้ม ชีวะสวัสดิ์ เมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.