ฤกษ์ เขียววิจิตร (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๑๕)

ฤกษ์ เขียววิจิตร (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๑๕)

ฤกษ์ เขียววิจิตร

(พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๑๕)

 

นายฤกษ์ เขียววิจิตร เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ ที่ตำบลบ้านเนิน อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร บิดามีอาชีพทำฆ้องวงขาย ชื่อ จ่าผูก มารดาชื่อ นางวอน เขียววิจิตร  มีพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑ คน ชื่อ วาด ไม่เป็นนักดนตรี  

เมื่อยังเยาว์เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้วเรียนดนตรีกับครูเจิม  เรือนนาค จนสามารถตีระนาดทุ้มและฆ้องได้ดี จึงได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ของครูศุข ดุริยประณีต นอกจากจะต่อเพลงกับครูศุข แล้ว ยังต่อเพลงกับครูโชติ ดุริยประณีตด้วย จนมีความสามารถเป็นคนฆ้องและคนทุ้มประจำวงดุริยประณีตตลอดมา มีฝีมือดีพอสมควร 

นายฤกษ์ รับราชการเป็นพนักงานพัสดุ กระทรวงกลาโหม แล้วย้ายมาทำงานที่โรงงานสุราบางยี่ขัน  สมรสกับนางสาวเชื่อม ดุริยประณีต (สุดา เขียววิจิตร) มีบุตรเป็นนักดนตรีหลายคน คือ ดำรง (ทุ้ม) ฤทธิ์ (ทุ้ม เครื่องหนัง) สีนวล (ขับร้อง) จำรัส (ขับร้อง) สุนันท์ (ไม่เป็นนักดนตรี) มนู (เครื่องหนัง ประจำอยู่กองดุริยางค์กองทัพบก) และมนัส (เครื่องหนัง ประจำอยู่กองดุริยางค์กองทัพบก) 

นายฤกษ์ มิได้ยึดอาชีพเป็นนักดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ใช้เวลาว่างจากงานประจำ เล่นดนตรีกับวงของฝ่ายภรรยาเป็นประจำ ไม่เคยสอนให้แก่ผู้ใดนอกจากเด็ก ๆ ในบ้านดุริยประณีต ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ต้องผ่าตัดถึง ๓ ครั้ง สุขภาพทรุดโทรมลง จนถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ อายุได้ ๖๒ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูสุดา เขียววิจิตร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.