รวม พรหมบุรี (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๒๙)

รวม พรหมบุรี (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๒๙)

รวม พรหมบุรี

(พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๒๙)

 

ครูรวม เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่ตำบลท่าเสา ถนนเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เรียนหนังสือจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนประชาบาลวัดศรีสุริยวงศ์ จังหวัดราชบุรี มีปู่ชื่อ ปลัดขำ ย่าชื่อ นางพั้ง ตาชื่อ นายอยู่ และยายชื่อ นางกระติก  บิดาชื่อ เลื่อน มารดาชื่อ ตี้  เมื่อเล็ก ๆ ได้ใกล้ชิดอยู่กับหลวงปู่ใหญ่ (ห้อง) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม จังหวัดราชบุรี หลวงปู่ใหญ่ได้ขอร้องนายเลื่อนให้ส่งครูรวม ไปเรียนปี่พาทย์ที่วัดของท่าน ตั้งแต่อายุได้ ๘ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๑) โดยเรียนกับครูพราย มณีศรี หัดเรียนฆ้องวงเป็นปฐม แล้วต่อด้วยระนาด ฆ้องเล็ก ระนาดทุ้ม จนถึงเครื่องหนัง  เพลงที่เรียนก็ได้แก่ สาธุการ โหมโรงเช้า  โหมโรงเย็น  เพลงช้า  เพลงเร็ว และเพลงเรื่องต่าง ๆ โดยเรียนพร้อม ๆ กับพี่ชายใหญ่ คือ พลตำรวจตรีเสวก พรหมบุรี (ตีฆ้องเล็ก)  

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ได้เรียนระนาดกับครูกล้าย ณ บางช้าง แล้วไปเป็นศิษย์เรียนเพลงมอญจากครูสุ่ม  ดนตรีเจริญ ครูกล้ำ ณ บางช้าง ท้ายสุดต่อเพลงหน้าพาทย์จาก หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)  ได้เข้าไปอยู่วังบูรพาภิรมย์ และเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จนสามารถบรรเลงและขับร้องเพลงไทยได้ดีทั้งเพลงตับ เพลงเถา และเพลงประกอบการแสดงโขนละคร รวมทั้งเล่นดนตรีได้รอบวงแล้วกลับมาเป็นนายวงปี่พาทย์อยู่ที่จังหวัดราชบุรีจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๖) ได้รับมอบตำราและพิธีกรรมสำหรับการไหว้ครูจากท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ศิษย์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ไชยยะ  ทางมีศรี  จ่าอ่อน  หนูแก้ว  นายพุ่ม เผยเผ่าเย็น  นายวิมล  เผยเผ่าเย็น  นางมัณฑนา เพิ่มศิลป์ นายประมวล  ครุฑสิงห์  และนายเรืองเดช  สังข์จุ้ย เป็นต้น  

ในด้านความสามารถทางด้านดนตรีนั้น ได้เคยออกแสดงฝีมือเดี่ยวระนาดให้เจ้าคุณเทศา ฯ ฟัง ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี  ได้รับรางวัลเป็นครั้งแรก และได้แต่งเพลงไว้ ๑ เพลง คือ เพลงนกจากเถา  

ที่บ้านของครูรวม ณ จังหวัดราชบุรี มีลูกศิษย์มาเรียนดนตรีมากขนาดต้องหุงข้าวด้วยกะทะเลี้ยงกัน นักดนตรีทั้งในเขตจังหวัดราชบุรี  เพชรบุรี  นครปฐม ส่วนมากมักจะเคยผ่านการเรียนดนตรีจากสำนักครูรวมกันทั้งสิ้น ครูรวมรับงานปี่พาทย์ โขนละครอยู่เป็นประจำ ในละแวกบ้านและจังหวัดใกล้เคียง นับว่าเป็นผู้ยืนหยัดส่งเสริมดนตรีไทยในต่างจังหวัดที่มั่นคงแข็งแรงมากคนหนึ่ง มีความรู้ในเพลงการจนเป็นที่นับถือกันทั่วไป  นอกจากจะเป็นนักดนตรีอาชีพแล้ว ยังเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองจังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ ด้วย  

ครูรวมแต่งงานครั้งแรกกับ นางเฟื้อน และแต่งงานครั้งที่ ๒  กับนางแฉล้ม  มีบุตรธิดารวม ๗ คน เป็นนักดนตรีและนักร้อง ๔ คน คือ นางสุภา  สันดุษฎี  นางรัตนา  คันธวโร (ขับร้อง) นางองุ่น  ครุฑสิงห์  จ.ส.ต. ศิริเวช (นักดนตรี) นายอุดมศักดิ์ (นักดนตรี) นายจิรวุฒิ (นักดนตรี) และนางสาวอุไร พรหมบุรี  

ครูรวมพักอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๑๔ ตำบลท่าเสา ถนนเขางู ซอย ๒ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ยังเป็นหัวหน้าวงดนตรี และมีศิษย์มาฝากตัวเรียนดนตรีอยู่เสมอ  ครูรวมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๙ สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ นายรวม พรหมบุรี)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.