มิ ทรัพย์เย็น (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๑๕)

มิ ทรัพย์เย็น (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๑๕)

มิ ทรัพย์เย็น

(พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๑๕)

 

ครูมิ  ทรัพย์เย็น  เป็นบุตรนายเสม และนางกลีบ ทรัพย์เย็น  เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู ที่ตำบลศิริราช  อำเภอบางกอกน้อย  จังหวัดธนบุรี  

ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดวิเศษการ (วัดหมื่นรักษ์)  เป็นเวลา ๔ ปี จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๒ จึงออกจากการศึกษา สำหรับวิชาดนตรีนั้น เนื่องจากเมื่อเยาว์ยัง ครูมิได้มาอยู่กับพระยารัตนา ซึ่งเป็นลุงข้างมารดา ที่บ้านวังหลัง อันมีครูพุ่ม  บาปุยะวาท (พุ่มเล็ก) เป็นครูสอนดนตรีประจำบ้าน จึงได้เริ่มฝึกหัดดนตรีกับครูก่อนเป็นปฐม  ต่อมาได้ไปอยู่วงปี่พาทย์ที่บ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในรัชกาลที่ ๖ จึงมีโอกาสได้ฝึกหัดดนตรีจากพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม  สุนทรวาทิน) จนนับได้ว่าเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดทางเครื่องหนังจากพระยาเสนาะดุริยางค์โดยเฉพาะ  

หน้าที่การงานของครูมินั้น เริ่มด้วยการเข้ารับราชการทหารเมื่ออายุครบเกณฑ์เป็นทหารรักษาวังเป็นเวลา ๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๖๗) จากนั้นจึงเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ในกองพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ กระทรวงวัง  ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้โอนไปสังกัดกรมศิลปากรจนครบเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยความรู้ความสามารถในวิชาดนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเครื่องหนัง  กรมศิลปากรจึงจ้างให้เป็นครูพิเศษในวิทยาลัยนาฏศิลปต่อไปอีก  แต่ครูมิปฏิเสธเพราะต้องการพักผ่อนและดูแลภาระทางบ้าน รวมทั้งงานสอนตามโรงเรียนและหน่วยราชการอื่น ๆ เช่น ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และวิทยาลัยวชิรพยาบาล ยังเป็นภาระผูกพันอยู่  ครูมิสอนอยู่ที่วิทยาลัยวชิรพยาบาลเป็นแห่งสุดท้าย จนถึงแก่กรรมด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่โรงพยาบาลวชิระ  สิริอายุได้ ๗๑ ปี  

ครูมิ เล่นดนตรีได้เกือบทุกเครื่องมือแต่ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ คือ เครื่องหนังจนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งกลอง  เสียงเครื่องหนังของครูมิ เป็นไปดังใจปรารถนา  ที่สนุกก็สนุกยิ่งนัก ถึงคราวน่าเกรงขาม ก็ฟังครั่นคร้ามศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยิ่ง เมื่อสมัยยังมีชีวิตอยู่ มีการทำเพลงหน้าพาทย์สำคัญ ๆ ในงานใหญ่ ๆ ที่ใด ไม่ว่าเป็นงานของใครก็ต้องมาตามครูมิไปตีตะโพนทุกครั้งไป  ในกระบวนหน้าทับกลองแขกนั้น  เพลงสะระหม่า นับเป็นเพลงที่ตียากที่สุดเพลงหนึ่ง เพราะทั้งยาวทั้งยอกย้อนและละเอียดพิสดารยิ่งนัก คนกลองแขกทั้งสองคนคือ คนตีตัวผู้และคนตีตัวเมีย ต้องมีความแม่นยำเป็นเลิศในทางของตน พร้อมทั้งใช้ปฏิภาณไหวพริบอย่างยิ่ง เพื่อตีประสานสอดคล้องเข้าด้วยกัน ตีพลาดเข้าทีเดียวก็อาจล่มเสียทั้งคู่  จึงยากนักที่จะมีใครได้ครบทั้งทางตัวผู้และทางตัวเมีย  ครูมินั้นได้ทั้ง ๒ ทาง  แต่ทางตัวเมียจัดว่าเป็นเลิศ  เพื่อน ๆ ร่วมรุ่นร่วมสำนักของครูมิล้วนเป็นเอตทัคคะในแต่ละแขนงของดุริยางค์ไทยทุกคน  เช่น  ครูเทียบ  คงลายทอง (ปี่)  ครูสอน  วงฆ้อง (ฆ้องใหญ่)   ครูพริ้ง  ดนตรีรส (ระนาดเอก)  ครูแสวง โสภา (ระนาดทุ้ม)  เป็นต้น  แต่ครูมิ ไม่มีศิษย์มากเหมือนเพื่อน ๆ ครูมิเคยปรารภกับลูกและหลาน ๆ ว่า หาคนดีแท้และตั้งใจจริงไม่ได้  ในระยะหลังกรมศิลปากรเห็นค่าของครูมิ จึงเชิญมาถ่ายทอดวิชาเครื่องหนังให้แก่ศิษย์ในวิทยาลัยนาฏศิลป แต่ยังไม่ทันจะไปถึงไหนครูมิก็ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน  

ครูมิ เป็นคน “มิ” สมชื่อ คือ เงียบ ๆ เฉย ๆ ทั้งมีความอ่อนโยน นุ่มนวลเกรงใจคนเป็นที่สุด  จนชั้นแต่จะไหว้วานลูกหลานก็ต้องถามว่า ว่างหรือเปล่า ก่อนทุกครั้ง  ตลอด ๑๑ ปี ที่ผู้เขียนรู้จักใกล้ชิดกับครูมิ ไม่เคยได้ยินวาจาหยาบแม้สักคำเดียว ครูมิสร้างตัวด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์สุจริตจนครอบครัวเป็นปึกแผ่น มิใช่แต่จะอาศัยความรู้ทางดนตรีแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ครูมิยังมีความรู้ทางช่างเป็นยอด ด้วยความช่างสังเกตจดจำครูมิถึงกับสามารถตั้งร้านรับแก้นาฬิกาอยู่แถวบ้านขมิ้นได้อีกด้วย  

ครูมิ  เป็นคนแรกที่เป็นต้นคิดสร้างโรงโขนสำเร็จรูป สามารถประกอบ รื้อถอนได้สำเร็จในวันเดียว เป็นต้นคิดใช้มอเตอร์ไฟฟ้านวดหนังหน้ากลองแทนวิธีใช้มือ  นอกจากนี้ครูมิยังเหลาระนาดได้เองอีกด้วย  

ชีวิตครอบครัวนั้น ครูมิ สมรสกับ นางสมบุญ ทรัพย์เย็น มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๘ คน คือ จารณา (ชาย) สมร (หญิง) ประเสริฐ (ชาย) พิศมัย (หญิง) สุมิตรา (หญิง) ศิริมา (หญิง) มารศรี (หญิง) สามารถ (ชาย)

 

พิชิต ชัยเสรี 

(เรียบเรียงจาก คำหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายมิ ทรัพย์เย็น)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.