หม่อมมาลัย กุญชร ณ อยุธยา
(พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๖๕)
หม่อมมาลัย เป็นบุตรีของ ขุนชำนิ ฯ (ไม่ทราบราชทินนามเต็ม) และนางสุขไม่มีนามสกุลเดิม เพราะในขณะนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัตินามสกุล บิดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็กมาก มารดาจึงนำมาฝากไว้ให้อยู่ในบ้านของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ได้ฝึกหัดละครกับหม่อมเข็ม หัดร้องเพลงกับหม่อมเปรม ต่อเพลงขับร้องละครจาก นายสิน สินธุนาคร คนระนาดเอกบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ รวมทั้งได้ต่อเพลงร้องจากหม่อมเนยและหม่อมเจริญด้วย หม่อมมาลัยได้อยู่ในวังบ้านหม้อนี้เรื่อยมาจนเชี่ยวชาญในการดนตรี ขับร้องและฟ้อนรำเป็นอย่างดี นับเป็นตัวละครดึกดำบรรพ์ของวังบ้านหม้อที่มีชื่อเสียงมาก
ลักษณะของหม่อมมาลัย เป็นคนผิวขาว ใบหน้างามมาก เวลารัดเครื่องละคร แล้วจัดได้ว่าเป็นคนสวย เสียงหวานเยือกเย็น ไพเราะจับใจ เล่นละครดึกดำบรรพ์ทั้งร้องและรำได้คล่อง เป็นตัวเอกที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงชมเชยมาก เมื่อเริ่มมีการอัดแผ่นเสียงเพลงไทยกับห้างแผ่นเสียงตราตึก (โอเดี้ยน) ของเยอรมนีนั้น หม่อมมาลัย ได้รับการคัดเลือกให้ร้องเพลงลงแผ่นไว้หลายเพลง อาทิ แขกโอด ๓ ชั้น แขกสาหร่าย ๒ ชั้น เทพนิมิตร ๓ ชั้น ลาวสมเด็จ ๒ ชั้น ล่องน่านเล็ก ฯลฯ อัดเป็นแผ่นเสียงหน้าสีน้ำตาลชุดแรกๆ ของท่าน
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ท่านมีบุตรีเกิดจากเจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ ๑ คน ชื่อ ม.ล. บุบผา กุญชร (ต่อมาเป็นนักเขียน ใช้นามปากกาว่า ดอกไม้สด ภริยาของ ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกา) ประมาณ พ.ศ.๒๔๔๙-๒๔๕๐ หม่อมมาลัยได้หนีออกจากวังบ้านหม้อ เพราะมีเรื่องขัดใจกับตัวละครที่เป็นคู่แข่งขัน ด้วยความเป็นผู้มีความอดทน ใจกล้า และมีวิชาดี จึงได้ใช้ความรู้ช่วยตัวเองต่อมาด้วยการร้องเพลงกับวงดนตรีต่าง ๆ และเนื่องจากท่านเป็นผู้มีความงาม และความรู้ ได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างผู้ดีชาววังมาแต่เล็ก จึงมีผู้หวังที่จะแต่งงานด้วยหลายราย มีนายห้างฝรั่งชื่อ ริกันตี รายหนึ่งที่สนใจและขอให้หม่อมมาลัยไปขอหนังสือหย่ามาจากเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ก่อนเพราะเกรงจะผิดกฎหมาย ด้วยหม่อมมาลัยเป็นภรรยาของเสนาบดีมาก่อน แต่เจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ ไม่ยอมให้แต่งงานกับริกันตี จากนั้นก็มีนักดนตรีอีกหลายรายรวมทั้งนายทหารเรือหลายคนที่ประสงค์จะแต่งงานด้วย ปรากฎว่าหม่อมมาลัยได้อยู่กินกับนายทหารเรือท่านหนึ่งจนมีบุตรีด้วยกัน ๑ คน แต่ครอบครัวฝ่ายชายรังเกียจหม่อมมาลัยจึงจัดให้แยกทางกันเสีย บุตรีคนนี้มีนามว่า “โฉมศรี” ซึ่งได้ถูกญาติฝ่ายบิดาปกปิดความลับนี้ไว้เป็นเวลาหลายสิบปี
ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ทรงจัดให้มีละครขึ้นประจำวังเพชรบูรณ์ อันเป็นที่ประทับ ทรงทราบว่าหม่อมมาลัยเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถมากในกระบวนเพลงและกระบวนรำ จึงโปรด ฯ ให้เข้ามาอยู่ในวังเพชรบูรณ์ในฐานะแม่ครูผู้ฝึกสอน หม่อมมาลัยได้มาอยู่พร้อมด้วยศิษย์หลายคน เช่น ครูท้วม ประสิทธิกุล เรียนขับร้อง ครูลมุล ยมะคุปต์ และครูเฉลย สุขวณิช ซึ่งเข้ามาร่วมงานในกระบวนรำ
หม่อมมาลัย ได้บันทึกเสียงกับห้างแผ่นเสียงตราสุนัข อีกหลายครั้ง ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เพลงตับเรื่องอิเหนา พระลอ และเพลงเกร็ดอื่น ๆ อีกมาก
ในบั้นปลายของชีวิต ท่านได้อยู่กินกับนายเจริญ ศัพท์โสภณ นักระนาดเอก หัวหน้าวงดนตรีของวังเพชรบูรณ์ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ท่านไม่ยอมให้ใครถ่ายรูป คนรุ่นหลังจึงไม่มีใครเคยเห็น หม่อมมาลัยป่วยเป็นวัณโรค และถึงแก่กรรมที่วังเพชรบูรณ์ ถนนราชดำริ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ขณะที่มีอายุได้ ๓๕ ปี เท่านั้น
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ สมภพ จันทรประภา ม.ล.แฉล้ม กุญชร และหนังสือประวัติชีวิตดอกไม้สด เขียนโดย สมภพ จันทรประภา)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.