นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง สาคริก) (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๕)

นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง สาคริก) (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๕)

นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง สาคริก)

(พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๕)

 

นางมหาเทพกษัตรสมุห มีนามเดิมว่า บรรเลง ศิลปบรรเลง เป็นบุตรีคนที่ ๒ ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) และนางโชติ  เกิดที่บ้านหน้าวังบูรพาภิรมย์ เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๓ คน คือคุณหญิงชิ้น ไชยพรรค (พี่สาว) นายประสิทธิ์  ศิลปบรรเลง (น้องชาย) และนางชัชวาลย์ รุ่งเรือง (น้องสาว) และมีน้องร่วมบิดาอันเกิดแต่ นางฟู อีก ๔ คน ชื่อ ภัลลิกา ขวัญชัย  สมชาย และสนั่น ศิลปบรรเลง 

เริ่มเรียนหนังสือสามัญชั้นต้นที่โรงเรียนศรีจิตรสง่า เมื่ออายุได้ ๗ ปี แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด จนจบชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ ในด้านดนตรีนั้น เริ่มเรียนเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี จากท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ผู้เป็นบิดา เรียนได้ประมาณ ๒ ปี ก็มีงานประชันวงปี่พาทย์ครั้งสำคัญ  ณ วังบางขุนพรหม (งานสี่มะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๖) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) เป็นหัวหน้าวงวังบูรพาภิรมย์  นำวงปี่พาทย์เข้าประชันด้วย จึงได้ต่อร้องให้กับอาจารย์บรรเลง เพื่อเข้าขับร้องประชันวงในงานดังกล่าวขณะนั้นอาจารย์บรรเลงอายุได้ ๑๔ ปี ผลการประชัน ปรากฏว่า นางเทียม  กรานต์เลิศ ได้ที่ ๑ อาจารย์บรรเลง ได้ที่ ๒ และอาจารย์เจริญใจ  สุนทรวาทิน ได้ที่ ๓  หลังจากงานนี้แล้ว อาจารย์บรรเลงไม่เคยร้องเพลงออกงานที่ไหนอีกเลย แต่เป็นครูสอนขับร้องให้แก่ผู้อื่นมาตลอด 

ประวัติการทำงานเริ่มตั้งแต่ เรียนจบประโยคมัธยมบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนขับร้องที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย เป็นเวลา ๖ ปี แล้วย้ายไปประจำที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในระยะนี้สอบวุฒิ พ.ม. (พิเศษมัธยม) ได้ และได้เข้าร่วมวงมโหรีหลวงในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ระยะหนึ่ง สามารถบรรเลงดนตรีได้ทุกเครื่อง ยกเว้นปี่  จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ย้ายไปอยู่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ในตำแหน่งหัวหน้าวิชาดนตรีและการละคร พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับทุน ไอ.ซี.เอ. ไปศึกษาและดูงานการสอนชั้นประถมศึกษาด้านดนตรีและการละคร ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา ๑ ปี  พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับทุนยูเนสโกไปดูงานการแสดงละครแบบต่าง ๆ  ณ ประเทศอินเดีย  ทำให้อาจารย์บรรเลงมีประสบการณ์และความรู้ในด้านการดนตรี และละครกว้างขวางยิ่งขึ้น  ท่านจึงเป็นกำลังสำคัญทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ เกี่ยวกับการดนตรีและละคร ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี ที่ท่านรับราชการอยู่ ณ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา  ท่านได้ทำหน้าที่ควบคุมฝึกซ้อม  ทำบทละคร  ประพันธ์บทร้อง  เป็นวิทยากรผู้ให้การอบรมแก่ครูทุกระดับชั้น  เป็นกรรมการจัดบทเรียนขับร้องในระดับประถมศึกษา เป็นกรรมการตัดสินการประกวดขับร้องและบรรเลงดนตรีไทยในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนทุกปี ได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินในการประกวดดนตรีไทยระดับชาติเกือบทุกครั้ง ซึ่งผลงานของท่านเท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถในทางดนตรี และละครของท่านได้เป็นอย่างดี   ผลงานทางด้านดนตรีนอกเหนือจากที่ปรากฎอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการก็มี  เพลงลาวสวยรวยเถา ซึ่งแต่งจาก ๒ ชั้นของเดิม  

อาจารย์บรรเลง  สมรสกับขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน ชื่อ มาลินี  นิคม  เพียงเพ็ญ และชนก  ซึ่งบุตรชายคนสุดท้องนี้ มีความสามารถในการบรรเลงเครื่องสายทุกชนิด เป็นนักแต่งเพลง และเป็นผู้นำเครื่องดนตรีจีน ที่เรียกว่า เจ็ง มาบรรเลงเพลงไทยเป็นคนแรก  

พ.ศ. ๒๕๒๖  อาจารย์บรรเลง ดำรงตำแหน่ง อุปนายก มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนเศรษฐศิริ  เป็นครูสอนดนตรีไทยที่มูลนิธิฯ สอนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร และสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๕ อาจารย์บรรเลงถึงแก่กรรมลง ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ ๙๔ ปี

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล

(เรียงเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย กรอกข้อมูลโดย อาจารย์บรรเลง สาคริก และคำบอกเล่าของ คุณหญิงชิ้น (ศิลปบรรเลง) ไชยพรรค)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.