มนตรี ตราโมท
(พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๓๘)
นายมนตรี ตราโมท เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อ ยิ้ม และมารดาชื่อ ทองอยู่
เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี (ปรีชาพิทยากร) จบชั้นมัธยมปีที่ ๓ เมื่อเข้ามาอยู่กรมมหรสพแล้วได้เรียนต่อในโรงเรียนพรานหลวง จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖
สนใจดนตรีไทยมาแต่เด็ก เริ่มเรียนเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปี โดยมีครูสมบุญ นักฆ้อง (ครูอ้วน) เป็นครูคนแรก ครั้นอายุได้ ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๖) ได้ไปเรียนดนตรี ปี่พาทย์ และเรียนเครื่องดนตรีฝรั่ง (แตรวง) ต่อที่บ้านครูสมบุญ สมสุวรรณ ตำบลบางกะพร้อม จังหวัดสมุทรสงคราม จนมีฝีมือดี และได้เรียนรู้หลักการแต่งเพลงด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อายุ ๑๗ ปี ได้สมัครเข้ามารับราชการในกรมพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพมหาดเล็ก (วังจันทร์เกษม) ซึ่งมีพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นครูใหญ่ ณ วังจันทร์ ฯ นี้ได้เรียน ฆ้องใหญ่ จาก หลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตรวิลัย) เรียนกลองแขก จาก พระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์) เรียนระนาดทุ้มจากพระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) ต่อมาพระยาประสานดุริยศัพท์ได้กรุณาสอนต่อให้อีก และได้รับเลือกให้เป็นคนตีระนาดทุ้มประจำใน “วงตามเสด็จพระราชดำเนิน” ซึ่งไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จแปรพระราชฐานไปที่ใด วงนี้จะต้องตามเสด็จเสมอ จึงได้ใกล้ชิดในเบื้องพระยุคลบาทเป็นพิเศษเสมอมา
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ อายุ ๒๔ ปี อุปสมบท ณ วัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีพระครูโพธาภิรัติ (สอน) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีความสามารถสอบนักธรรมตรี ได้ที่ ๑ ของจังหวัด อุปสมบทอยู่ ๑ ปี จึงกลับมารับราชการ และในปีรุ่งขึ้นก่อนรัชกาลที่ ๖ สวรรคตไม่นาน ก็ได้เรียนหน้าพาทย์ชั้นสูง ถึงขั้นองค์พระ โดยต่อจากท่านครูทองดี ชูสัตย์ ครูอาวุโสในสมัยนั้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ทำหน้าที่บันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล โดยมีหน้าที่เป็นผู้บอกทางระนาดทุ้มไม้ และระนาดทุ้มเหล็ก ได้ทำการบันทึกเสียงเพลงไทยให้แก่ราชบัณฑิตยสภา
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนสังกัดจากกรมพิณพาทย์หลวง มาขึ้นต่อกรมศิลปากรในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงได้ย้ายมาประจำกรมศิลปากร ระยะนี้ได้เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และท่านครูได้มอบให้ทำหน้าที่ครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาการดนตรีได้ ระยะนี้เองได้เรียนโน้ตสากลเพิ่มเติมจากพระเจนดุริยางค์ จนสามารถอ่านเขียนโน้ตสากลได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญยิ่ง รับราชการอยู่ในกรมศิลปากร มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร
อาจารย์มนตรี ตราโมท เริ่มรับราชการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเงินเดือนเริ่มแรก เดือนละ ๘ บาท รับราชการจนเกษียณอายุ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นเวลาติดต่อกันถึง ๔๕ ปี
ผลงานในด้านวิชาการ เริ่มแต่งเพลงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ (อายุได้ ๒๐ ปี) เพลงแรกที่แต่งคือ ลาวต้อยตลิ่ง ๓ ชั้น เพลงที่ ๒ คือ เพลงพม่าเห่เถา จากนั้นก็แต่งเพลงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีจำนวนเพลงมากมายกว่า ๒๐๐ เพลง
ผลงานเพลงประเภทโหมโรง ได้แก่ โหมโรงขับไม้บัณเฑาะว์ โหมโรงราโค โหมโรงเอื้องคำ โหมโรงรัตนโกสินทร์สามชั้น ฯลฯ
ประเภทเพลงเถา ได้แก่ โสมส่องแสงเถา แขกกุลิตเถา แขกต่อยหม้อเถา ขอมทรงเครื่องเถา มอญรำดาบเถา ขอมเงินเถา กล่อมนารีเถา กาเรียนทองเถา และสมโภชพระนครเถา เป็นต้น
ในบรรดาเพลงสามชั้น ได้แก่ จระเข้หางยาวทางสักวา เขมรปี่แก้วทางสักวา ต้นเพลงยาวสามชั้น เทพพนมสามชั้น ประพาสมหรรณพสามชั้น ฯลฯ
ในประเภทเพลง ประวัติศาสตร์ ได้แก่ ระบำโบราณคดีหลายชุด สิบสองจุไทย ขุนบรม ฝั่งโขง ไทยมุง ฯลฯ
ประเภทเพลงระบำ ได้แก่ นกเขามะราปี ระบำนพรัตน์ ไกรลาศสำเริง มยุราภิรมย์ บันเทิงกาสร ระบำเงือก ระบำดอกบัว อัศวลีลา ฯลฯ
ในด้านเพลงไทยสากล อาจารย์มนตรีเคยประกวดแต่งเพลงวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ได้รับรางวัลที่ ๑ เรียกว่า เพลงวันชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เพลงม่านมงคลของท่าน ได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงไทยยอดนิยมได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่แต่งเพลงสำคัญสำหรับการแสดงนาฏศิลป์ ในโอกาสที่กรมศิลปากรไปแสดงยังต่างประเทศเป็นประจำ อาทิ เพลงพม่าไทยอธิษฐาน ลาวไทยปณิธาน ฯลฯ
ในด้านร้อยกรอง อาจารย์มนตรีเป็นกวีผู้ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง นอกจากจะแต่งบทร้อง เพลงตับ เพลงเถา แล้ว ยังแต่งกวีนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง อาทิ โคลงกลบทช้างประสานงา โคลงกลบทหลงห้อง โคลงกลบทพรหมพักตร์ โคลงกลบทสักวา โคลงกลบทสาลินี โคลงกลบทฉมัง และนิราศอิหร่านราชธรรม เป็นต้น รวมทั้งทำบทโทรทัศน์ บทละคร เป็นอันมาก
ในด้านตำรา ได้แต่ง ตำราดุริยางคศาสตร์ ศัพท์สังคีต การละเล่นของไทย ประวัติบทเพลงต่าง ๆ และบทความทางประวัติการดนตรีไทยอีกมากมายจนนับไม่ถ้วน เป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔
ชีวิตครอบครัว อาจารย์มนตรีแต่งงานครั้งแรกกับคุณลิ้นจี่ บุรานนท์ มีบุตรชื่อ ฤทธี และศิลปี ตราโมท อาจารย์ศิลปีเป็นนักดนตรีผู้สามารถมากคนหนึ่ง และเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ของกองสังคีต กรมศิลปากร ต่อมาคุณลิ้นจี่ถึงแก่กรรม (พ.ศ. ๒๔๘๐) จึงได้แต่งงานกับคุณพูนทรัพย์ นาฏประเสริฐ มีบุตรีชื่อ ดนตรี เป็นนักร้องและนักดนตรี และบุตรชายชื่อ ญานี เป็นสถาปนิกและนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์
อาจารย์มนตรีเป็นผู้ทรงความรู้และเป็นหลักสำคัญของวงการดนตรีไทยที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน มีทั้งความรู้ความสามารถในส่วนตัวและการถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ มีความจำยอดเยี่ยม และเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนในวิชาการ เป็นบรมครูของวงการดนตรีไทยที่มีผู้เคารพนับถือมากที่สุด
อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. ๒๕๒๘ ศิลปินอาเซียน พ.ศ. ๒๕๓๐ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ อาจารย์มนตรีได้ถึงแก่กรรมลง สิริรวมอายุได้ ๙๕ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก หนังสือมหกรรมศิลปสุพรรณบุรี ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๐ และคำให้สัมภาษณ์ของ อาจารย์มนตรี ตราโมท)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.