พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๔๖๘)

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๔๖๘)

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๔๖๘)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง  ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ทรงได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ตรัสเรียกว่า “ลูกโต”  

ขณะยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาในพระบรมมหาราชวัง พระอาจารย์ภาษาไทย คือพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และพระยาอิศรพันธ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา)  พระอาจารย์ภาษาอังกฤษ ชื่อ นายโรเบิร์ต มอแรนต์ (Robert Morant) จนพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ  ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ (Sandhurst) และทรงศึกษาวิชารัฐศาสตร์และกฎหมายที่วิทยาลัยไครสต์เชิช (Christ Church College) มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด  

พ.ศ. ๒๔๔๕  เสด็จนิวัติประเทศไทย  

พ.ศ. ๒๔๕๓  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ  ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. ๒๔๖๘  ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส กับเจ้าจอมสุวัทนา (คุณเครือแก้ว อภัยวงศ์) แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  

พ.ศ. ๒๔๖๘ เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงมีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา  ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี  

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรีไทย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อวงการดนตรีไทย  พระองค์ทรงสนพระทัยดนตรีไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่จะเริ่มทรงศึกษาเมื่อใด กับอาจารย์ผู้ใดนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดพอจะยืนยันได้จากพระบรมรูปที่ทรงฉายร่วมกับพระประยูรญาติในงานพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ขณะพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา  พระองค์ทรงตีกลองรำมะนา  พระประยูรญาติองค์อื่น ๆ ทรงดนตรีร่วมกับพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงตีโทน  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ทรงสีซออู้  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงตีฉิ่ง  พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ ทรงสีซอด้วง  พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทรงข้บร้อง และหม่อมเจ้าดนัยวรนุช จักรพันธุ์ ทรงตีฉาบ  

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีวงดนตรีไทยของพระองค์เองนับแต่เสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ขณะประทับ ณ พระที่นั่งสราญรมย์ พระองค์ได้ขอพระราชทานวงดนตรีไทยมหาดเล็กเรือนนอก (คือวงดนตรีไทยวัดน้อยทองอยู่) จากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี นักดนตรีไทยรุ่นแรกที่เข้ารับราชการ ณ วังสราญรมย์นี้มีประมาณ ๑๐ คน  เท่าที่ปรากฏชื่อได้แก่ นายแหยม  นายนาค  นายเพิ่ม  นายกร  นายจี่ และนายบุศย์  ส่วนครูที่มาฝึกซ้อมให้ คือ ครูแปลก  นักดนตรีจากวงวังบูรพาภิรมย์ ทั้งครูและนักดนตรีในวงดนตรีไทยของพระองค์นี้ล้วนแต่เป็นศิษย์ของครูช้อย สุนทรวาทิน จึงมีความสามารถสูง ฝีมือดี ประชันกับวงดนตรีวงใหญ่ ๆ วงอื่นได้ เช่น วงบางขุนพรหม   วงพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ และวงวังบูรพาภิรมย์ เป็นต้น  พระองค์ทรงมีวงดนตรีไทยประจำพระองค์เป็นเวลา ๘ ปี ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ 

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงทำนุบำรุงและส่งเสริมการดนตรีไทยมากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี ที่ทรงครองราชย์ ดนตรีไทยได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุด นับเป็นยุคทองของดนตรีไทย  พระองค์ทรงเป็นทั้งนักประพันธ์เพลง  นักประพันธ์บทละครพูด  บทละครรำ ทรงเป็นนักเสภาและทรงเป็นนักร้องเพลงไทยที่ทรงร้องได้ดีประทับใจมากที่สุด คือ เขมรปี่แก้วน้อย  

บทพระราชนิพนธ์เฉพาะด้านเพลงไทย มีเป็นจำนวนมากแยกเป็นประเภทได้ดังนี้  

ประเภทเพลงปลุกใจ  

ได้แก่  เพลงปลุกใจให้รักชาติบ้านเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเพลงตับ พระราชทานเป็นบทร้องของเสือป่า ประกอบด้วยเพลง ๓ เพลง คือ พัดชา  สร้อยเพลง และฝรั่งรำเท้า  เดิมทีเดียวเพลงชุดนี้ใช้ร้องด้วยเพลงช้างประสานงาเพลงเดียวตลอด ๑๔ คำกลอน แต่ยาวเกินไป จึงทรงตัดให้ใช้ร้องเป็นเพลงติดต่อกัน เฉพาะตอนที่ร้องด้วยทำนองสร้อยเพลงนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้เป็นบทเรียนสำหรับนักเรียนขับร้องด้วย เพราะเนื้อร้องมีความหมายดีและไพเราะมาก คือ เนื้อร้องที่ว่า  

ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส  

เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป  ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย 

ฯลฯ  

นอกจากนี้ยังมี เพลงสยามานุสติและเพลงปลุกใจอีกหลายเพลง ที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ได้แต่งทำนองขึ้นแล้วอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์มาบรรจุเป็นที่นิยมจนปัจจุบันนี้  

ประเภทเพลงอวยพร  

บทที่แพร่หลายมากที่สุด คือ เพลงแขกบรเทศ จำนวน ๖ คำกลอน  ที่ขึ้นต้นด้วยคำร้องที่ว่า  “พุทธานุภาพนำผล  เกิดสรรพมงคลน้อยใหญ่” ฯลฯ  

ประเภทเพลงรัก  

เพลงชุดพัดชา  ลีลากระทุ่ม ในเรื่องท้าวแสนปม ตอนท้าวชินเสนชมนางอุษา  

เพลงตะนาวแปลง บทร้องของ แมรี่กับไลออนส์ ในเรื่องวิวาหพระสมุทร  ตับวิวาหพระสมุทร ประกอบด้วยเพลงคลื่นกระทบฝั่ง  บังใบ และแขกสาหร่าย ๒ ชั้น  บทร้องของอันโดรเมดากับอังเดร ในเรื่องวิวาหพระสมุทร  เพลงตับชุดนี้แพร่หลายมากที่สุด  

เพลงเขมรปี่แก้วน้อย บทร้องของไลออนส์ ในเรื่องวิวาหพระสมุทร  

เพลงเทพรัญจวน ๓ ชั้น ในเรื่องพระยาราชวังสัน  

เพลงขึ้นพลับพลา บทร้องของนายจวงกับแม่ถนอม ในบทละครเรื่องปล่อยแก่  

เพลงสามเส้า ร้องหมู่ชาย-หญิง ในเรื่องวิวาหพระสมุทร  

ประเภทเพลงสอนใจ  

เพลงโยสลัม บทร้องของโยฮันนิสกับคอนสตันติโนส ในเรื่องวิวาหพระสมุทร (ปากเป็นเอกเลขเป็นโท…)  

เพลงพราหมณ์เข้าโบสถ์เถา  บทสอนหญิงให้วางตัวดีต่อภัสดา จากเรื่อง ศกุนตลา  

เพลงลมพัดชายเขา บทร้อง สาวิตรีเปรียบเทียบดอกไม้กับสตรีผู้มีคุณค่า จากเรื่อง สาวิตรี  

เพลงขอมกล่อมลูก ๒ ชั้น จากเรื่องพระยาราชวังสัน เป็นเพลงที่กระทรวงศึกษาธิการบังคับให้ใช้ขับร้องในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑  

ประเภทเพลงชมธรรมชาติ  

เพลงเขมรไทรโยค บทร้องของเล่าอ๊ะกับแฮ่กึ๊ง ในเรื่อง วั่งตี่  

เพลงแขกมอญ เพลงต้นเรื่องของพระราชนิพนธ์เรื่อง ศกุนตลา  

เพลงกาเรียนทอง ชมกวางดำเขาสีทอง จากเรื่อง ศกุนตลา  

เพลงพม่าห้าท่อน บทร้องจากเรื่อง พระยาราชวังสัน  

เพลงลมพัดชายเขาและเพลงสุดาสวรรค์เถา ใช้บทร้องเดียวกัน  จากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง ปล่อยแก่  

ประเภทเพลงโศก 

เพลงพญาโศก ๓ ชั้น เนื้อร้องจากเรื่อง พระยาราชวังสัน นับเป็นบทร้องเพลงพญาโศกที่ขึ้นชื่อมากที่สุด  

ประเภทเพลงลา  

เพลงปลาทอง ๓ ชั้น บทร้องของสุคีตา ในเรื่องพระเกียรติรถ  

เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง  บทร้องในเรื่อง พระยาราชวังสัน  

นอกจากนี้ยังมีบทร้องเป็นเพลงเถา จากเรื่องพระร่วง อีกมากมายหลายเพลง อาทิเช่น เขมรละออองค์  ขอมทรงเครื่องเถา  ขอมเงินเถา  ขอมโบราณเถา  ขอมทองเถา เขมรใหญ่เถา  เขมรพายเรือเถา  เขมรเหลืองเถา เป็นต้น   

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   มีนักดนตรีและนักร้องได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจำนวนประมาณ ๖๐ ตำแหน่ง  เป็น “พระยา” ๒ ตำแหน่ง “พระ ” ๖ ตำแหน่ง  “หลวง” ๑๖ ตำแหน่ง  “ขุน”  ๑๓ ตำแหน่ง และ “หมื่น” อีกประมาณ ๒๐ ตำแหน่ง มีราชทินนามเรียกคล้องจองกันตามลำดับบรรดาศักดิ์ ดังนี้  

ประสานดุริยศัพท์  ประดับดุริยกิจ  ประดิษฐ์ไพเราะ  เสนาะดุริยางค์  สำอางค์ดนตรี  ศรีวาทิต  สิทธิ์วาทิน  พิณบรรเลงราช  พาทย์บรรเลงรมย์  ประสมสังคีต  ประณีตวรศัพท์ คนธรรพวาที  ดนตรีบรรเลง  เพลงไพเราะ  เพราะสำเนียง  เสียงเสนาะกรรณ  สรรเพลงสรวง  พวงสำเนียงร้อย  สร้อยสำเนียงสนธ์  วิมลวังเวง  บรรเลงเลิศเลอ  บำเรอจิตรจรุง บำรุงจิตรเจริญ  เพลินเพลงประเสริฐ  เพลิดเพลงประชัน  สนั่นบรรเลงกิจ  สนิทบรรเลงการ  สมานเสียงประจักษ์  สมัคเสียงประจิตร์  วาทิตสรศิลป์  วาทินสรเสียง  สำเนียงชั้นเชิง  สำเริงชวนชม  ภิรมย์เร้าใจ  พิไลรมยา  วีณาประจินต์  วีณินประณีต  สังคีตศัพท์เสนาะ  สังเคราะห์ศัพท์สอาง  ดุริยางค์เจนจังหวะ  ดุริยะเจนใจ  ประไพเพลงประสม  ประคมเพลงประสาน  ชาญเชิงระนาด  ฉลาดฆ้องวง  บรรจงทุ้มเลิศ  บรรเจิดปี่เสนาะ  ไพเราะเสียงซอ  คลอขลุ่ยคล่อง  ว่องจะเข้รับ  ขับคำหวาน  ตันตริการเจนจิต  ตันตริกิจปรีชา  นารทประสาทศัพท์  คนธรรพประสิทธิ์สาร และยังมีจตุสดมภ์อีก ๔ คือ เจน  จัด  ถนัด  ถนอม ลงท้ายด้วยดุริยางค์หมด  ได้แก่ เจนดุริยางค์  จัดดุริยางค์  ถนัดดุริยางค์  ถนอมดุริยางค์  

นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่นับถืออย่างยิ่งของนักดนตรีไทยในปัจจุบัน ได้แก่ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)  พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จางวางทั่ว พาทยโกศล และพระยาภูมีเสวิน

 

วชิราภรณ์ วรรณดี 

(เรียบเรียงจาก ๑. สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พ.ศ. ๒๕๒๔.  

๒. คำบรรยายหลังอาหารเรื่อง  “ดนตรีไทยสมัยรัชกาลที่ ๖”  โดย อาจารย์มนตรี  ตราโมท  ณ  โรงแรมราชศุภมิตร  ลงพิมพ์ในวารสาร  “มานวสาร”  ฉบับ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓

๓. บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.