หมื่นภิรมย์เร้าใจ (ทำ หรือบุญธรรม อัมพผลิน) (พ.ศ. ๒๔๓๘-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

หมื่นภิรมย์เร้าใจ (ทำ หรือบุญธรรม อัมพผลิน) (พ.ศ. ๒๔๓๘-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

หมื่นภิรมย์เร้าใจ (ทำ หรือบุญธรรม อัมพผลิน)

(พ.ศ. ๒๔๓๘-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

หมื่นภิรมย์เร้าใจ (ทำ หรือบุญธรรม อัมพผลิน)  เป็นคนบ้านลุ่ม เมืองนนทบุรี  บิดาชื่อ โฉม มารดาชื่อ ทองอยู่  เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ หัดดนตรีจากครูชาวบ้านลุ่มมาตั้งแต่เด็ก จนสามารถตีระนาดและฆ้องวงได้ดี  ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก กรมพิณพาทย์หลวง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ (อายุได้ ๑๗ ปี) รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท ทำหน้าที่เป็นคนตีฆ้องใหญ่บ้าง ฆ้องเล็กบ้าง มีฝีมือดี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นภิรมย์เร้าใจ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๕ บาท  

พ.ศ. ๒๔๖๙ ย้ายไปรับราชการอยู่ในกองเครื่องสายฝรั่ง กรมบัญชาการมหาดเล็ก  ทำหน้าที่พนักงานเครื่องสายฝรั่ง โดยเป็นคนสีโวโอลิน ๒  แล้วย้ายไปสังกัดกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นลูกวงของพระเจนดุริยางค์  

ได้แต่งงานกับนางสาวบุญเรือน บุตรีหมื่นศรีวาเรศน์ และนางอิ่ม  เป็นคนแถวบ้านหม้อ ตำบลบางตะนาวศรี จังหวัดนนทบุรี มีบุตรชายเท่าที่สืบได้ ๒ คน เกิด พ.ศ. ๒๔๖๔ และ พ.ศ. ๒๔๖๕ ตามลำดับ แต่ไม่ทราบชื่อ  ได้รับพระราชทานนามสกุล  “อัมพผลิน” ตามประกาศลงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.