หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน)
(พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๕๑๘)
หลวงไพเราะเสียงซอ นามเดิม อุ่น ดูรยชีวิน เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ที่ตำบลบ้านหน้าไม้ อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา บิดา ชื่อ พยอม มารดา ชื่อ เทียบ มีพี่สาวหนึ่งคน ชื่อ ถมยา ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับหลวงศรีวาทิต (อ่อน โกมลวาทิน) เมื่ออายุ ๑๑ ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดหน้าต่างนอก ซึ่งมีหลวงพ่อจง เป็นเจ้าอาวาส ได้เรียนหนังสือมูลบพบรรพกิจ ภายหลังบิดามารดาย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงได้เรียนหนังสือที่วัดปริณายกต่อ
การศึกษาวิชาดนตรีเริ่มตั้งต้นที่บ้าน โดยเรียนซอด้วงจากบิดาซึ่งเป็นคนซอด้วงในวงแอ่วของนายกริชซึ่งเป็นวงแอ่วที่มีชื่อเสียงของอำเภอเสนา การแอ่วเคล้าซอในสมัยนั้นเมื่อผู้ชายเป็นคนร้องก็ใช้ซออู้ ถ้าผู้หญิงเป็นคนร้องก็ใช้ซอด้วง เพื่อให้เหมาะกับนิ้วของซอเวลาสีเคล้ากันไป ครั้นภายหลัง ม.จ.ถูกถวิล สุขสวัสดิ์ นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงได้มีโอกาสศึกษาวิชาดนตรีกับ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และมีความรู้ความชำนาญในการบรรเลงร่วมกับนักดนตรีอาวุโสอื่น ๆ ในวงดนตรีหลวง ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ
ต่อมาเมื่อครั้งที่มีการก่อตั้งกองเครื่องสายฝรั่งหลวงขึ้นในกรมมหรสพ หลวงไพเราะเสียงซอก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือกให้ไปฝึกหัดสีไวโอลิน มีครูผู้สอนชื่อ นาซารี เป็นชาวอิตาลี ก็ปรากฎว่าเรียนได้รวดเร็ว จนได้เป็นไวโอลินมือหนึ่งของวง และได้บรรเลงถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก
หลวงไพเราะเสียงซอเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ รับราชการในกองดนตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาดเล็กทั้งปวงก็เปลี่ยนสภาพเป็นข้าหลวงเดิม ปรับตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เข้าทำเนียบมหาดเล็กประจำหลวงไพเราะฯ จึงได้รับยศเป็นมหาดเล็กวิเสส
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระประสงค์ให้มีวงดนตรีตามเสด็จพระราชดำเนินเมื่อแปรพระราชฐานไปต่างจังหวัด เรียกกันว่า “วงตามเสด็จ” ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการที่มีฝีมือทางดนตรีทั้งสิ้น หลวงไพเราะ ฯ ก็เป็นผู้หนึ่งในวงตามเสด็จนี้ จนได้รับพระราชทานยศเป็นรองหุ้มแพร มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ ขุนดนตรีบรรเลง และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงไพเราะเสียงซอ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ครั้งหลังสุดได้บรรเลงเดี่ยวซอด้วงในงานที่ท่าวาสุกรี ซึ่งผู้บรรเลงต้องแต่งแฟนซีด้วย เสร็จงานนี้หลวงไพเราะ ฯ ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาอันเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต
ในด้านการสอนดนตรี ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น หลวงไพเราะ ฯ สอนวงเครื่องสายของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชเทวี วงพระสุจริตสุดา และวงพระยาอนิรุทธเทวา เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ นอกจากสอนถวายเจ้านายในวงเครื่องสาย ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ สมเด็จพระบรมราชินี กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ์ กรมหมื่นอนุวัตจาตุรนต์ ม.จ. ถาวรมงคล และ ม.จ. แววจักร จักรพันธุ์ เป็นอาทิแล้ว ก็ยังได้สอนถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคลและข้าหลวงในวังอีกด้วย ภายหลังกรมศิลปากร ได้เชิญให้สอนประจำที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร จึงถึงที่สุดแห่งอายุ นอกจากนี้ยังได้ช่วยฝึกสอนปรับปรุงวงดนตรีไทยของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอีกแห่งหนึ่ง จนปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลายต่อมา
ในแวดวงการดนตรีนั้น นักดนตรีรุ่นหลัง ๆ มักเรียกหลวงไพเราะ ฯ ว่า “พ่อหลวง” โดยเหตุที่ท่านเป็นครูอาวุโสที่มีเมตตากรุณา ทั้งมีนิสัยเยือกเย็น สุภาพ ควรแก่การเป็นปูชนียบุคคลยิ่งนัก ราชทินนาม “ไพเราะเสียงซอ” เหมาะสมกับพ่อหลวงเป็นที่สุด ไม่มีใครเสมอ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดศิลปการละครนั้น พ่อหลวง เป็นคนแรกที่สีซออู้คลอตามเสียงและถ้อยคำที่ร้องได้อย่างชัดเจนจนถึงแก่บางครั้งที่ตัวละครมัวพะวงจะฟังคนบอกบท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็รับสั่งว่า “ไม่ต้องมัวไปฟังบทหรอก ไอ้อุ่นมันสีซออยู่แล้ว” ผู้เขียนได้เคยเห็น เคยได้ยินนับครั้งไม่ถ้วนที่พ่อหลวงสีซอใช้นิ้วลงไปจนเกือบถึงกระบอกหรือกระโหลกซอ แต่จะมีเสียงเพี้ยนสูงหรือเพี้ยนต่ำไปสักนิดก็ไม่มี ทางซอของพ่อหลวงนั้น เรียกได้ว่า เป็นทางที่ครองศิลปะสยามสังคีตอยู่ในปัจจุบัน แม้ซอสามสายซึ่งพ่อหลวงเคยกล่าวกับผู้เขียนว่า “ฉันไม่ได้หัด” แต่พ่อหลวงก็สีได้ไพเราะจับใจ จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพ่อหลวงเอง ทุกนิ้ว ทุกคันชัก หาที่ติไม่ได้จนนิดเดียว ครั้งหนึ่งมีการบรรเลงเพลงเชิดจีนตัวที่ ๔ ในละครดึกดำบรรพ์เรื่องคาวี ซึ่งมีครูพริ้ง ดนตรีรส เป็นคนตีระนาด ครูสอน วงฆ้อง เป็นคนตีฆ้อง ครูอรุณ เป็นคนทุ้ม ครูเทียบ คงลายทอง เป็นคนขลุ่ย และพ่อหลวง เป็นคนสีซออู้ ช่วงกลางตัวซึ่งจะต้องมีการเดี่ยวแต่ละเครื่องมือนั้น ถ้าเป็นปี่พาทย์ไม้แข็งก็เริ่มที่ปี่ก่อน แล้วจึงไประนาดเอกฆ้องใหญ่ ฆ้องเล็ก และระนาดทุ้ม ตามลำดับ ถ้าเป็นไม้นวมก็เริ่มที่ขลุ่ยก่อน แล้วเรียงไปตามลำดับ เช่นเดียวกัน ในกรณีที่มีซออู้ด้วย ซออู้ก็มักจะรับต่อจากขลุ่ย หรือมิฉะนั้นบางครั้งก็รับต่อจากระนาดทุ้ม แต่ในการบรรเลงคราวนั้นมิได้ตกลงกันไว้ก่อน เมื่อครูเทียบเดี่ยวขลุ่ยจบกระบวนไปแล้ว ทั้งพ่อหลวงและครูพริ้งก็รอกันอยู่ ทำให้เกิดเสียงว่างอยู่ชั่วขณะ แต่ก่อนจะหมดห้องแรกของโน้ตสากลในจังหวะ ๒/๔ นั้น ผู้เขียนได้ยินครูพริ้งพูดขึ้นโดยเร็วว่า “น้าหลวงสิ” ในทันทีนั้นเอง พ่อหลวงก็บรรเลงเดี่ยวขึ้นรับได้ทันควันในอีก ๓ ห้องที่ยังมีจังหวะเหลืออยู่แต่กระบวนหนทางที่รับนั้น กลับมีความพอเหมาะพอดีจนสามารถเกลื่อนเสียงว่างของห้องแรกซึ่งมีความอึกอักอยู่เมื่อครู่ให้หายไปได้อย่างวิเศษ นับเป็นความสามารถ ปฏิภาณไหวพริบอันเลิศยิ่งนัก
ผลงานทางดนตรีของพ่อหลวง มีปรากฏในราชการเป็นอันมาก วงขับไม้อันเป็นการผสมวงชั้นสูงแต่โบราณ ซึ่งมี คนร้อง คนสีซอสามสาย คนไกวบัณเฑาะว์ ประกอบกันนั้น มักใช้เฉพาะงานพระราชพิธีสำคัญ เช่น สมโภชเศวตฉัตรในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือในพระราชพิธีขึ้นระวางพระคชาธาร ก็มีพ่อหลวงเป็นคนสีซอสามสายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนมาถึงงานพระราชพิธีขึ้นระวางพระเศวตคชเดชดิลก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ก็มีสาเหตุมาจากคำกราบทูลขอของพ่อหลวง เมื่อคราวตามเสด็จประพาสสัตหีบ โดยเรือพระที่นั่งจักกรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ให้ทรงพระราชนิพนธ์ขยายจากเพลงคลื่นกระทบฝั่ง ๒ ชั้น ของเก่า
ด้านชีวิตครอบครัว พ่อหลวงสมรสกับ น.ส. นวม มัธยมจันทร์ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๘ คน คือ นายอนันต์ (ถึงแก่กรรม) นายอนุ ด.ญ. อนงค์ (ถึงแก่กรรม) ด.ช. เอนก (ถึงแก่กรรม) นางดวงเนตร ด.ช. อนนต์ (ถึงแก่กรรม) นายอณัต และนายอำนาย สมรสครั้งที่สองกับ ม.จ. กริณานฤมล สุริยง มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน คือ นางผกากน ทองคำ นายพิมลชัย ดูรยชีวิน นางพิไลพรรณ หอมเจริญ นางจันทราภรณ์ พลดี และนายสุริยพันธ์ ดูรยชีวิน
พ่อหลวงมีโรคประจำตัวคือ หืด จนในครั้งหลังเป็นมะเร็งที่คอและปาก ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นคนไข้หลวง แต่ก็รักษาหายได้ทุกครั้ง จนครั้งสุดท้ายเป็น ไข้หวัด มีอาการอ่อนเพลียและปอดบวมแทรก ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ณ โรงพยาบาลศิริราช ศิริอายุได้ ๘๔ ปี
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก ประสบการณ์ของผู้เขียนเอง และหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.