ขุนเพลินเพลงประเสริฐ (จี่ วีณิน) (พ.ศ. ๒๔๒๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนเพลินเพลงประเสริฐ (จี่ วีณิน) (พ.ศ. ๒๔๒๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนเพลินเพลงประเสริฐ (จี่ วีณิน)

(พ.ศ. ๒๔๒๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

ขุนเพลินเพลงประเสริฐ เป็นศิษย์ของครูช้อย สุนทรวาทิน และเป็นหลานของท่านสมภารแสง เจ้าอาวาสวัดน้อยทองอยู่ เกิดที่ตำบลบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรของนายแดง และนางเข็ม วีณิน เมื่อเด็กได้เรียนหนังสือกับสมภารแสง ที่วัดน้อยทองอยู่ แล้วเริ่มเรียนดนตรีไทยกับครูช้อย สุนทรวาทิน ซึ่งสมภารแสงชวนมาอยู่ที่วัดโดยสร้างเรือนให้อยู่หลังจากที่บ้านครูช้อยถูกเพลิงไหม้ เริ่มเรียนดนตรีเมื่ออายุ ๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๘) ครั้นถึงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และได้เข้ามาอยู่ในวังสราญรมย์ ตั้งแต่อายุ ๒๒ ปี มีหน้าที่บรรเลงปี่พาทย์ ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท

เมื่อรับราชการมาได้ ๕ ปี จึงได้เลื่อนยศเป็นมหาดเล็กวิเสส รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๓๐ บาท จนถึงเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนพลินเพลงประเสริฐ” รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๕๐ บาท และโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายจากกองพิณพาทย์หลวงไปสังกัดกองเครื่องสายฝรั่งหลวง

ขุนเพลินเพลงประเสริฐ เดิมเช่าบ้านอยู่ที่ข้างวัดดุสิตาราม อยู่รวมกับบิดามารดา เมื่อรับราชการแล้ว ได้ย้ายมาอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๘๑ ตำบลบางอ้อ กรุงเทพฯ ครั้งถึงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงได้แต่งงานกับนางสาวลูกอิน (ไม่ทราบนามสกุล) ธิดาของนายชมและนางปริก จึงได้ย้ายไปอยู่กับภรรยา ณ บ้านเลขที่ ๑๕๗๘ ตรอกวัดตะเคียน เขตบางรัก และยังคงรับราชการอยู่ในวงเครื่องสายฝรั่งหลวง มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อยุบเลิกตำแหน่งหน้าที่นี้ลง ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว จึงออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญ เดือนละ ๑๒.๕๐ บาท

ในด้านผลงานและฝีมือ ปรากฎว่า เป็นผู้มีความรู้ความสามารถระดับปานกลางเล่นดนตรีไทยได้หลายชนิดแต่ไม่ถึงกับได้รับการยกย่องว่าชำนาญเครื่องมือชนิดใดเป็นพิเศษ เมื่อย้ายไปอยู่วงเครื่องสายฝรั่ง ก็ทำหน้าที่เป่าแตร และตีเครื่องประกอบจังหวะ

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารกรมมหรสพ และคำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.