ขุนเพลิดเพลงประชัน (บุษย์ วีณิน) (พ.ศ. ๒๔๒๗-๒๕๑๖)

ขุนเพลิดเพลงประชัน (บุษย์ วีณิน) (พ.ศ. ๒๔๒๗-๒๕๑๖)

ขุนเพลิดเพลงประชัน (บุษย์ วีณิน)

(พ.ศ. ๒๔๒๗-๒๕๑๖)

 

ขุนเพลิดเพลงประชัน (บุษย์ วีณิน) เกิดที่ตำบลบางอ้อ ธนบุรี เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นบุตรของนายแดง และนางเจิม เป็นหลานของสมภารแสง เจ้าอาวาสวัดน้อยทองอยู่ ซึ่งปลูกฝังวิชาการดนตรีให้แต่ยังเยาว์ โดยให้มาเรียนดนตรีกับครูช้อย สุนทรวาทิน ที่วัด นอกจากจะต่อเพลงกับครูช้อยแล้ว ยังได้เรียนกับพี่ชายชื่อ แหยม วีณิน (ต่อมาเป็นพระประดับดุริยกิจ) มีพี่ชายร่วมบิดามารดาชื่อ จี่ วีณิน (ต่อมาได้เป็นที่ขุนเพลินเพลงประเสริฐ) และหัดดนตรีมาพร้อมกันจนมีความสามารถหลายอย่าง ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มีหน้าที่อยู่ในกรมมหรสพ แผนกพิณพาทย์หลวง ครั้นเมื่อทรงตั้งกองเครื่องสายฝรั่งหลวงขึ้น ขุนเพลิดเพลงประชันและพี่ชาย (ขุนเพลินเพลงประเสริฐ) ได้ย้ายไปประจำในวงเครื่องสายฝรั่งนั้น จนถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนเพลิดเพลงประชัน รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๕๐ บาท และอยู่ต่อมาจนสิ้นรัชกาล

ชีวิตครอบครัวได้แต่งงานกับนางสาวแฉล้ม บุตรีนายสิ้นและนางยิ้ม เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ แล้วย้ายมาอยู่ที่บ้านภรรยาที่บ้านเลขที่ ๖๖ ตำบลบางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร มีบุตร ๔ คน เป็นชาย เกิด พ.ศ. ๒๔๕๔  พ.ศ. ๒๔๕๗ พ.ศ. ๒๔๖๑ และ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตามลำดับ แต่สืบนามไม่ได้และไม่ทราบว่าเล่นดนตรีได้หรือไม่ ทั้งยังค้นประวัติไม่ได้ว่า ท่านขุนฯ มีหน้าที่บรรเลงเครื่องดนตรีชนิดใด ในวงเครื่องสายฝรั่งหลวงนั้น

ขุนเพลิดเพลงประชัน ได้รับพระราชทาน เข็มข้าหลวงเดิม เหรียญราชรุจิรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๕ และตรามงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ อายุได้ ๘๙ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารกรมมหรสพ และคำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.