หลวงเพราะสำเนียง (ศุข ศุขวาที) (พ.ศ. ๒๔๐๗-๒๔๗๗)

หลวงเพราะสำเนียง (ศุข ศุขวาที) (พ.ศ. ๒๔๐๗-๒๔๗๗)

หลวงเพราะสำเนียง (ศุข ศุขวาที)

(พ.ศ. ๒๔๐๗-๒๔๗๗)

 

หลวงเพราะสำเนียง (ศุข ศุขวาที) เป็นนักร้องชายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ เกิดที่บ้านใกล้วัดเทพชุมพล เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้ายปีชวด ตรงกับวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๗  ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นบุตรของ นายนิ่ม และนางพ่วง ศุขวาที  เรียนหนังสือที่วัดเทพชุมพล และมีความสนใจเรื่องการขับร้อง สามารถขับเสภา แหล่เทศน์ และเล่นจำอวด สวดคฤหัสถ์ (เป็นคอ ๒) เล่นจำอวดได้ดีมาตั้งแต่เด็ก  

นายศุข เป็นคนมีชื่อเสียงในทางขับร้องมาตั้งแต่ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ และเริ่มอัดเสียงลงกระบอกเสียงของเอดิสัน คู่มากับ นายจอน สุนทรเกศ (ต่อมาเป็นที่หลวงกล่อมโกศลศัพท์) หากเล่นคู่กัน นายจอนจะว่าบทชาย และนายศุขจะว่าบทหญิง เพราะเป็นผู้มีเสียงแหลมเล็ก นุ่มนวลคล้ายผู้หญิงมาก  ครั้นเมื่อมีแผ่นเสียงแบบจานแบน ก็ได้บันทึกเสียงอีกมากมาย โดยร้องคู่กับนายจอนเช่นเคย โดยบันทึกเสียงกับบริษัท  International Talking Machine คือ แผ่นเสียงโอเดี้ยน ตราตึก ทั้งชนิดหน้าสีน้ำเงินและหน้าสีน้ำตาล  เพลงที่ขับร้องมักร้องกับแตรวงทหารมหาดเล็กหรือกรมทหารราบที่ ๓ ไม่ปรากฏว่าเคยร้องกับแตรวงทหารเรือเท่าที่ค้นแผ่นเสียงมาได้  มีเพลง โอ้ลาวสามชั้น  เชิดจีน (บทร้องเมขลาโยนแก้ว) พญาโศก หอมหวล และพวกเพลงแหล่เทศน์ต่าง ๆ เช่น จีนไหหลำ ลักษณวงศ์ เสภาตลก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนเณรแก้วเข้าหอ ลาวกะเล็ง เป็นต้น  ที่อัดไว้กับบริษัท Lylophone Concert Recore ก็มีเพลงนกขมิ้น จำปาทองเทศ และที่อัดรุ่นเก่ากว่านั้นอีกคือเป็นแผ่นเสียงร่องกลับทางแบบเบอร์ไลเน่อร์ ก็มีเพลงเทพชาตรี ๒ ชั้น  นางครวญ และแหล่เรื่องสรรพคุณยา เป็นต้น นับเป็นนักร้อง นักเทศน์ และนักขับเสภาเชลยศักดิ์ มาเป็นเวลานาน จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  ทำหน้าที่เป็น “คนเสียง” คือเป็นนักร้องได้รับพระราชทานเงินเดือนขั้นต้น เดือนละ ๒๐ บาท  

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในเดือนตุลาคม พ.ศ.  ๒๔๕๓ แล้ว วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนเพราะสำเนียง” ยศชั้นนายรอง รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๖๐ บาท 

อีก ๒ ปี ต่อมา ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็น “หลวงเพราะสำเนียง”  เงินเดือน ๑๐๐ บาท ระยะนี้ได้เริ่มทำมาค้าขายเป็นส่วนตัวบ้าง และยังอัดแผ่นเสียงบ้าง กับบริษัท His Master Voice ตราสุนัข  แผ่นเสียงเข็มเพชร ตราไก่ ของบริษัทปาเต๊ะ ประเทศฝรั่งเศส ฯลฯ ได้รับพระราชทานนามสกุล “ศุขวาที” เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ อันเป็นการพระราชทานครั้งแรกร่วมกับสกุลต่าง ๆ กว่า ๑๐๐ สกุล  

ใน พ.ศ. ๒๔๓๐  หลวงเพราะสำเนียงได้แต่งงานกับนางสาวจีบ บุตรีหลวงสุนทราพิมล (ลบ) และนางปราง ซึ่งมีบ้านอยู่เลขที่ ๑๔๓ ถนนตะนาว กรุงเทพฯ แล้วได้เช่าบ้านที่ถนนพระสุเมรุ บางลำพู อยู่กับภรรยามานับแต่แต่งงาน  หลังจากนั้นได้ย้ายจากบ้านเดิมที่เช่าอยู่ ณ ถนนพระสุเมรุ มาอยู่บ้านภรรยาที่ถนนตะนาว ได้ตั้งโรงพิมพ์ พิมพ์แบบฟอร์มต่าง ๆ และหนังสือนานาชนิดเป็นที่ต้องพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก  โดยหลวงเพราะสำเนียงเป็นทั้งเจ้าของและผู้จัดการ  ได้ซื้อที่ดินลงทุนไว้เป็นอันมาก  จนเรียกได้ว่าเป็นคนมีฐานะดีคนหนึ่ง  ครั้งถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงกราบถวายบังคมลาออกมาเป็นข้าราชการบำนาญ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ อายุได้ ๖๒ ปี รับพระราชทานบำนาญเดือนละ ๒๘ บาท ๗๕ สตางค์ แต่ยังคงดำเนินกิจการค้าต่อไปอย่างมั่นคง  

หลวงเพราะสำเนียงมีบุตรกับนางจีบ ภรรยา เท่าที่สืบได้ คือ ร้อยตรีศรี ศุขวาที นางสาวทองอยู่ ศุขวาที ซึ่งเป็นนักร้องอยู่กรมโขนละครสมัยรัชกาลที่ ๖ และมีลูกชายอีกคนหนึ่งเป็นทหาร ชื่อ สุทธิ์ ศุขวาที  ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ หลวงสุทธิสารรณกร รับราชการเป็นบุคคลสำคัญต่อมาทั้งในวงการทหารและการเมือง แต่มิได้ใช้สกุล ศุขวาที คงใช้ราชทินนาม “สุทธิสารรณกร” เป็นสกุลต่อมาจนทุกวันนี้  

หลวงเพราะสำเนียง ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในหน้าที่การงาน และมีชื่อเสียง มีฐานะดี ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคลำไส้พิการ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ รวมอายุได้ ๗๐ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของ อาจารย์มนตรี ตราโมท  กับแพทย์หญิงสุนิตย์ สิทธิสารรณกร)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.