เพชร จรรย์นาฏ
(พ.ศ. ๒๔๒๐-๒๔๙๐)
ครูเพชร จรรย์นาฏ เดิมชื่อ นุช บิดามารดามีนามใดยังค้นไม่ได้ เกิดที่บ้านฝั่งธนบุรี เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มเรียนดนตรีไทยโดยเป็นศิษย์ของครูช้อย สุนทรวาทิน รุ่นหลังพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) มีความสามารถเล่นดนตรีไทยได้รอบวง โดยเฉพาะฝีมือฆ้องและระนาดนั้นอยู่ในเกณฑ์ดี
เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช พระราชอนุชาในรัชกาลที่ ๕ ทรงเริ่มตั้งวงดนตรีส่วนพระองค์ขึ้นที่วังบูรพาภิรมย์นั้น ทรงเสาะหานักระนาดฝีมือดีมาประจำก็หาไม่ได้ถูกพระทัย จึงมีรับสั่งกับครูแปลก (ก่อนเป็นขุนนาง) ให้ช่วยหาคนระนาดมาถวาย ก่อนครูแปลกจะพานายนุชไปถวายตัว สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงสุบินว่า ได้เพชรเม็ดงามมา พอรุ่งขึ้นนายนุชก็มาถวายตัว เมื่อลองฝีมือระนาดแล้ว ก็โปรดประทานชื่อให้ใหม่ว่า “เพชร” ตามพระสุบินนิมิตนั้น เมื่อครูเพชรไปอยู่วังบูรพานั้นคาดว่าคงจะมีอายุราว ๑๘-๒๐ ปี อยู่วังเจ้านายระดับสมเด็จพระอนุชาธิราช ก็เลยไม่ต้องเป็นทหาร ได้เป็นมหาดเล็กดนตรีมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงได้นายศร ลูกครูสิน ศิลปบรรเลง คนระนาดฝีมือดีมาจากเขางู ราชบุรี ครูเพชร จึงเลื่อนไปเป็นคนฆ้องใหญ่ จางวางศร จึงได้เป็นคนระนาดเอกแทนมาแต่นั้น ครูเพชรอยู่ที่วังบูรพาภิรมย์จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงออกจากวังกลับมาอยู่บ้านเดิมที่ฝั้งธนบุรี
เมื่อเสด็จวังบูรพาฯ สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๗๑) นั้น ครูเพชร ได้ออกจากวังบูรพาฯ มานานแล้ว โดยไปอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีศิษย์ไปฝากตัวเรียนดนตรีด้วยเป็นอันมากนับเป็นครูดนตรีที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และสอนดนตรีเรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต วงดนตรีของครูเพชรนั้น มีชื่อเสียงประชันอยู่ในเขตอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี เป็นประจำ
ครูเพชร มีภรรยาหลายคน มีบุตรชายหญิงหลายคน ที่สืบได้มีบุตรีชื่อ เจือ เจียน และเจียด มีบุตรชายเป็นนักระนาดทุ้มฝีมือดีมากชื่อ ไพฑูรย์ จรรย์นาฎ ต่อมาเป็นคนระนาดทุ้ม ประจำวงนายสังเวียน เกิดผล แห่งตำบลบ้านใหม่ อยุธยา
ครูเพชร แก่กว่าจางวางศร ๔-๕ ปี จางวางศร นับถือ มีความรู้ได้เพลงมากยกย่องเรียกครูเพชรว่า “พ่อเพชร” เมื่อจางวางศรมาจากอัมพวาใหม่ ๆ ยังไม่ได้เพลงเถา ซึ่งสมัยนั้นกำลังนิยม ครูเพชรก็เป็นคนต่อให้ ส่วนครูเพชร ก็นับถือในฝีมือและความรู้ของจางวางศรมากเช่นเดียวกัน ศิษย์ของจางวางศรและครูเพชร จึงมักไปมาหาสู่และช่วยงานกันเป็นประจำ
ครูเพชร ถึงแก่กรรมที่บ้าน วัดเสาวิหาร ตำบลบ้านใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑ อายุราว ๗๐ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง นายสังเวียน เกิดผล และนายบุญยงค์ เกตุคง)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.