พริ้ง ดนตรีรส
(พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๒๔)
ครูพริ้ง เป็นบุตรของนายพลอยและนางพร้อม เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๐ ปีฉลู ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๔ ที่ตำบลผักไห่ จังหวัดอยุธยา
การศึกษาวิชาสามัญนั้น เริ่มที่โรงเรียนวัดใหม่บางกระทิง จนอ่านออกเขียนได้ก็เลิกเรียน ครั้งสิ้นบุญบิดา พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งเป็นเพื่อนกับบิดาจึงได้พามากรุงเทพฯ เลี้ยงไว้เสมือนหนึ่งเป็นลูก พร้อมทั้งสั่งสอนวิชาความรู้ทางดนตรีให้เป็นอันมาก ต่อมาภายหลังพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) พอใจในฝึมือจึงขอตัวจากวงปี่พาทย์บ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีพระยาเสนาะฯ เป็นครู ไปประจำวงวังจันทร์เกษม ซึ่งเป็นวงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงพลอยทำให้ครูพริ้ง ซึ่งมีความรู้ทางดนตรีดีอยู่แล้วจากท่านพระยาเสนาะฯ ได้มีโอกาสสังเกตเล่าเรียนเพิ่มเติมจากพระยาประสานฯ พระเพลงไพเราะ หลวงชาญเชิงระนาด และพระพาทย์บรรเลงรมย์ เป็นต้น
หน้าที่การงานของครูพริ้ง เริ่มตั้งแต่เป็นนักดนตรีในวงปี่พาทย์ของบ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี แล้วจึงย้ายไปประจำวงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต่อมาได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ยศพันจ่าเด็กชา มีหน้าที่การงานในกองพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ย้ายมาเป็นมหาดเล็กตั้งเครื่องอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงโอนมารับราชการในกรมศิลปากร และได้เป็นหัวหน้าวง ๒ ในขณะนั้น จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งมีนายชำนาญ ยุวบูรณ์ เป็นนายกเทศมนตรี ได้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทยตั้งวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ขึ้น และได้มอบหมายให้ครูพริ้ง เป็นผู้จัดหานักดนตรีไทยพร้อมทั้งเป็นครูผู้ควบคุมดูแลการฝึกซ้อมต่อไป นอกจากนี้ ครูพริ้งยังได้รับเชิญให้สอนตามโรงเรียนและสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง ครั้งหลังสุด ครูพริ้ง สอนดนตรีไทยอยู่ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒารามเพียวแห่งเดียว จนถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื้อวันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ สิริอายุได้ ๘๐ ปี
ครูพริ้งหรือที่นักดนตรีผู้ใกล้ชิดทั้งหลายมักเรียกว่า “พ่อพริ้ง” เพราะท่านวางตัวเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ทั้งมีพรหมวิหารธรรมต่อผู้ใกล้ชิดและบรรดาศิษย์เสมือนหนึ่งบิดาบังเกิดเกล้า นับว่าเป็นผู้มีฝึมือเป็นเลิศในทางปี่พาทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระนาดเอก และกลองมลายู การตีระนาดของครูพริ้ง ได้รับการยกย่องจากนักดนตรีทั่วไปทั้งในน้ำมือ น้ำเสียง ทางและปฏิภาณไหวพริบว่าไม่มีใครเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีระนาดประกอบโขน ละครและการบรรเลงหน้าพาทย์ เสียงระนาดของครูพริ้งดังโตดังชัด หนทางแยบคาย ทีขึ้น ทีลง ไพเราะติดหู ถึงทีเร็วก็ไหวจัด ถึงทีช้าก็มีสง่าเป็นระเบียบสวยงาม ปี่พาทย์วงใดแม้ไม่สู้มีฝึมือ หากได้ครูพริ้งเป็นคนระนาดก็ดูลอยเด่นงดงามไปได้ทั้งวง สมัยเมื่อมีการนิยมลิเกกันนั้น บรรดาคอลิเกทั้งหลายมักพูดติดปากว่า “ลิเกต้องนายพักตร์ ระนาดต้องนายพริ้ง” พ่อพริ้งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ค่าตัวของพ่อพริ้งนั้นต้องเท่ากับตัวพระเอกหรือมากกว่า แต่ระนาดของพ่อพริ้งก็ดึงดูดคนดูได้ไม่แพ้พระเอกเหมือนกัน สำหรับผู้ที่ศึกษาอยู่ในวิทยาลัยนาฏศิลป์ ฝ่ายโขนละครสมัยที่พ่อพริ้งยังรับราชการอยู่ในกรมศิลปากรนั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า วันใดพ่อพริ้งเข้าเวรตีระนาด นักเรียนฝ่ายโขนละครก็จะพากันมาสอบในวันนั้น เป็นโกลาหลมากกว่าวันอื่น ๆ ซึ่งมีครูคนอื่นเป็นคนตีระนาด ทั้งนี้เพราะเสียงระนาดของพ่อพริ้งบอกท่ารำได้ บางครั้งรำผิด พ่อพริ้งก็จะช่วยตีระนาดลัดเลาะลงให้เป็นถูกไปได้ถึงคราวสนุกก็เต้นกันจนลืมเหนื่อย ครูอร่าม อินทรนัฎ ครูยักษ์ ฝีมือเยี่ยมของกรมศิลปากร เคยพูดเสมอว่า “ถ้าพี่พริ้งตีระนาด เป็นถึงไหนถึงกัน” สำหรับกลองมลายูและกลองแขกนั้น พ่อพริ้งได้รับการยกย่องมากที่สุดในการตีหน้าทับประเภทนางหงส์และบัวลอย พ่อพริ้งเคยเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า เมื่อคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปในที่ต่าง ๆ เมื่อมีการซ้อมปี่พาทย์กันมีครั้งหนึ่งที่พ่อพริ้งเป็นคนกลองแขก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคาะตลับมวนพระโอสถกับพระเก้าอี้เป็นการให้จังหวะพ่อพริ้งด้วยสำราญพระทัยยิ่งนัก นอกจากนี้พ่อพริ้งยังเคยไปงานบรรเลงปี่พาทย์นางหงส์กับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) อันว่าการบรรเลงปี่พาทย์นางหงส์นั้น มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือเร็วและไหวจัด ในครั้งนั้นหลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นคนระนาด พ่อพริ้งเป็นคนกลองมลายูตัวผู้ ครั้นเมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ตีแนวไหวจัดขึ้นทุกที คนกลองมลายูตัวเมียก็เลิกตี แต่พ่อพริ้งนั้นบอกกับผู้เขียนว่า “ท่านตีไหวไปเท่าไร ผมก็ตามไปเท่านั้น” ผลที่สุดเมื่อจบกระบวนหลวงประดิษฐ์ฯ หันมายิ้มและชมว่า “พริ้งเก่ง” สำหรับไม้สะระหม่านั้น พ่อพริ้งต่อมาจากพระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) และปรารภกับผู้เขียนว่า ยังไม่ได้ต่อให้ใครจนครบถ้วนกระบวนความ แล้วพ่อพริ้งก็มาด่วนสิ้นชีวิตไปเสียก่อน จึงเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก
พ่อพริ้งมีความเคารพกตัญญูต่อพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นที่ยิ่ง เพราะถือว่าเป็นครูผู้ให้ชีวิต ให้รากฐานความรู้อันมั่นคง เมื่อครั้งพ่อพริ้งออกจากบ้านเจ้าพระยาธรรมาฯ ไปอยู่ที่พระราชวังจันทร์เกษมนั้น ก็ไปอย่างผู้มีวิชาอันดีติดตัวไปแล้วเป็นปฐม จึงพบความก้าวหน้าแตกฉานอย่างรวดเร็ว ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณเป็นคุณสมบัติของพ่อพริ้งจนวันตาย ในระยะหลังก่อนถึงแก่กรรม กรมศิลปากรได้เห็นค่าของพ่อพริ้งเชิญกลับเข้าเป็นครูพิเศษในวิทยาลัยนาฏศิลป์ แต่พ่อพริ้งไม่ไป พร้อมทั้งปรารภกับผู้เขียนว่า “จะให้ผมทิ้งมหาพฤฒารามไปได้อย่างไร”
เพื่อนๆ ร่วมสำนักร่วมรุ่นของพ่อพริ้งล้วนเป็นผู้มีฝึมือเป็นเลิศในทางปี่พาทย์กันทุกคน เช่น ครูเทียบ คงลายทอง ครูสอน วงฆ้อง ครูมิ ทรัพย์เย็น เป็นต้น พ่อพริ้งจะพูดอย่างภูมิใจว่า “ถ้าพวกผมไปกันเต็ม เล่นเป็นสนุกนัก” น่าเสียดายที่จะไม่มีวันคืนเช่นนั้นอีกแล้ว ยิ่งได้เข้าคู่กับครูเทียบ คงลายทอง พ่อพริ้งเหมือนได้ลดอายุลงไปสักครึ่งหนึ่ง เสียงระนาดฮิกเหิมลอยละล่องประสานกับเสียงปี่วิเวกหวานวิจิตรบรรจงหาฟังที่ไหนไม่ได้อีกต่อไป
ครูพริ้ง ดนตรีรส สมรสกับนางทรัพย์ มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๘ คน ถึงแก่กรรมหมดเหลือเพียงคนเดียวเป็นชาย ชื่อ สมนึก
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพริ้ง ดนตรีรส และคำบอกเล่าของครูพริ้ง ดนตรีรส)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.