พระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์) (พ.ศ.๒๔๐๘-๒๔๘๐)

พระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์) (พ.ศ.๒๔๐๘-๒๔๘๐)

พระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์)

(พ.ศ.๒๔๐๘-๒๔๘๐)

 

พระพิณบรรเลงราช  (แย้ม  ประสานศัพท์) เป็นนักดนตรีคนสำคัญคนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์  มีความสามารถเล่นดนตรีได้รอบวง  และชำนาญมากที่สุด คือ  “เครื่องหนัง” ทุกชนิด 

พระพิณบรรเลงราช   เดิมชื่อ แย้ม  หรือ แหยม ประสานศัพ์ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของขุนกนกเลขา กับนางนิ่ม เกิดที่บ้านตรอกไข ถนนบำรุงเมือง ติดกับวัดเทพธิดาราม เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน  ๖  ปีฉลู  ตรงกับ  วันที่  ๙  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๐๘    ท่านเป็นน้องชายแท้ ๆ ของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก  ประสานศัพท์) อ่อนกว่าพระยาประสานฯ ๕ ปี  ยังมีพี่ชายอีกคนหนึ่ง ชื่อ เปลี่ยน  และน้องสาวอีกสองคนชื่อ สุ่น และ นวล (พงศ์บุปผา) 

เมื่อยังเยาว์วัยได้เริ่มเรียนดนตรีกับครูช้อย สุนทรวาทิน  โดยเป็นศิษย์รุ่นต้น ๆ เช่นเดียวกับพระยาประสาน ฯ พี่ชาย   แต่ได้แยกออกไปรับราชการอยู่ในกรมพระตำรวจหลวง  ที่เรียกว่า “กรมมะลายู อาสาจาม” ในตำแหน่งช้าง  ทำงานประจำอยู่  ณ  วังกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ  รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑๒ บาท   อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๔๕๓  

เนื่องจากมีความสามารถ ในการเล่นดนตรีปี่พาทย์ดี  และมีฝีมือตีกลองดีมาก พระยาประสานดุริยศัพท์  จึงนำเข้าถวายตัวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖  แล้วย้ายมาสังกัดกรมมหรสพ เมื่อวันที่ ๑  เมษายน  พ.ศ.๒๔๕๓   อีกปีหนึ่งต่อมาก็ได้เลื่อนเป็นมหาดเล็กวิเสส  รับพระราชทานเงินเดือน ๖๐ บาท   แล้วเลื่อนขึ้นเป็นขุนพิณบรรเลงราช   เมื่อวันที่  ๑๘  มกราคม พ.ศ.๒๔๕๓ และเป็นหลวงพิณบรรเลงราช เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๗  รับพระราชทานเงินเดือน  เดือนละ ๖๐ บาท  ในเดือนต่อมาก็ได้เป็นหุ้มแพรหลวงพิณบรรเลงราช  เมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๖๒  

พระพิณบรรเลงราชได้ติดตามพระยาประสาน ฯ ผู้เป็นพี่ชายไปเล่นดนตรีในวังเจ้านายหลายแห่ง  สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช โปรดปรานฝีมือตีกลองของคุณพระมากและได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตีกลองประจำวงพิณพาทย์หลวงตลอดมา    ได้ถ่ายทอดวิชานี้ไว้ให้แก่ศิษย์ในกรมมหรสพ    และกรมศิลปากรหลายคน 

พระพิณบรรเลงราช  แต่งงานครั้งแรกกับนางสาวจ้อย บุตรี หลวงอภัยพิทักษ์ (ใหญ่)และนางขำ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับท่านบิดา   มีบ้านเรือนอยู่ถนนมหาชัย   ตำบลสำราญราษฎร์   ใกล้กับวัดเทพธิดารามนั่นเอง  และแต่งงานเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อ เจ๊ก ประสานศํพท์  เกิด พ.ศ.๒๔๓๖  ต่อมารับราชการได้เป็นที่ หมื่นประจักษ์เสียงประจิตร์   ต่อมาเมื่อนางจ้อยถึงแก่กรรม  จึงได้แต่งงานกับนางสมบุญ  เกิดบุตรอีก  ๓  คน  ชื่อ  ปรุง (ชาย,เกิดพ.ศ.๒๔๕๖) บุญรอด (หญิง ,เกิด พ.ศ.๒๔๖๑)และบรรเลง (หญิง,เกิดพ.ศ.๒๔๖๘) บุตรชายที่ ชื่อ ปรุง ต่อมาได้เป็นนักดนตรีคนสำคัญของกองดุริยางค์สากล  กรมศิลปากร  เป็นผู้อำนวยเพลง  และบอกเสียงประสานเพลงไทยไว้หลายเพลง  

พระพิณบรรเลงราช  ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา  เมื่อวันที่  ๑๓  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๘๐    รวมอายุได้  ๗๓  ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก  เอกสารทะเบียนประวัติ   กรมมหรสพ   สำนักพระราชวัง,”ประวัตินักดนตรีไทย” ของอาจารย์เจริญชัย  ชนไพโรจน์  และจากการสัมภาษณ์ อาจารย์มนตรี  ตราโมท)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.