พังพอน แตงสืบพันธุ์
(พ.ศ.๒๔๕๔-๒๕๒๘)
ครูพังพอน แตงสืบพันธุ์ หรือที่บรรดาศิษย์เรียกขานกันว่า “ครูพอน”เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นบุตรของนายหวาด และนางบู่ ซึ่งมีอาชีพทำสวน อยู่ที่ตำบลบางค้อ อำเภอบางขุนเทียน มีพี่ชายชื่อ เทศ และมีน้องชายชื่อ สาลี่ ไม่มีความรู้ทางด้านดนตรีทั้งคู่
เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี นายเพิ่ม สุวรรณวัฒน์ ซึ่งเป็นญาติ ได้นำตัวมาฝากให้เป็นศิษย์ของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล โดยเริ่มต่อเพลงทะแยก่อนเช่นเดียวกับศิษย์คนอื่น ๆ ต่อมาก็ต่อฆ้องวงเล็กจนสามารถเดี่ยวได้ดี เมื่อคราวประชันวงครั้งใหญ่ที่วังลดาวัลย์ ในวันประสูติของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พ.ศ.๒๔๗๓ ครูพอนเป็นผู้ตีฆ้องเล็กในครั้งนั้น แต่ไม่มีการตัดสิน เพียงแต่ได้เล่นถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะพระพักตร์เท่านั้น
ครูพอนได้ร่ำเรียนดนตรีเกือบทุกด้านนับตั้งแต่ฆ้องวงใหญ่ เครื่องหนัง จนกระทั่งปี่ และได้วิชาไว้มากมาย จึงได้รับหน้าที่ถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์รุ่นหลังของครูจางวางทั่ว และศิษย์ของครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เรื่อยมาจนทุกวันนี้
พ.ศ.๒๔๘๑ ได้เข้ารับราชการทหารในกองดุริยางค์ทหารบกจนถึง พ.ศ.๒๕๑๒ ระหว่างที่รับราชการทหารอยู่นั้น ได้เรียนวิชาอ่านและเขียนโน้ตสากลเพิ่มเติมจนคล่องแคล่ว ในคราวที่มีการฟื้นฟูเพลงพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติ เมื่อพ.ศ.๒๕๒๔ นั้น ครูพอนได้เป็นหัวแรงในการอ่านโน้ตเพลงพระนิพนธ์ทั้งทางเครื่องและทางร้อง ตลอดจนฝึกหัดวงปี่พาทย์พาทยโกศล และควบคุมการบันทึกเสียงเป็นผลงานเก็บไว้ในห้องสมุดดนตรี ทูนกระหม่อมบริพัตร หอสมุดแห่งชาติ
ครูพอนไม่ได้แต่งงาน จึงได้มาช่วยงานในคณะพาทยโกศลอย่างเต็มที่ทุกวั ทั้งในฐานะนักดนตรี ครูผู้สอน แม้กระทั่งผู้ประดิษฐ์และซ่อมเครื่องดนตรี หลังจากที่คุณครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่นำไหว้ครูในสำนักพาทยโกศลแทน เนื่องจากได้รับมอบมาจากคุณครูเทวาประสิทธิ์ โดยตรง ด้วยเหตุนี้ ครูพอนจึงเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งของวงพาทยโกศลมาจนถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๘
อารดา กีระนันทน์
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของนายพังพอน แตงสืบพันธุ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.