โป๊ะ เหมรำไพ
(พ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๘๕)
ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ทุกครั้งที่มีการเห่เรือหลวง ชื่อของนายโป๊ะ เหมรำไพ จะเป็นที่ร่ำลือกันโดยทั่วไป เพราะเป็นต้นเสียงในการเห่เรือเป็นประจำแทน หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ)
นายโป๊ะ เหมรำไพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ ครูเทียบ คงลายทอง ครูทรัพย์ เซ็นพานิช เดิมบวชเป็นพระภิกษุ เป็นนักเทศน์เสียงดี อยู่ที่วัดอนงคาราม ต่อมาสึกออกไปรับราชการประจำอยู่ที่ กองดุริยางค์ทหารเรือ ได้รับยศครั้งสุดท้ายเป็นรองอำมาตย์ตรี นายโป๊ะ เหมรำไพ เป็นนักร้องเสียงดังฟังชัด เสียงเพราะ ลีลาการร้องดี ไม่มีเพี้ยน ไม่มีหลง ในครั้งนั้นคุณแม่เจริญ พาทยโกศล ได้ไปช่วยฝึกหัดนักร้องอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารเรือ ตามพระบัญชาของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งทรงบัญชาการกองทัพเรืออยู่ในขณะนั้น นายโป๊ะจึงได้ฝึกร้องเพลงกับคุณแม่เจริญ ซึ่งมีฝีมือเลิศด้วย และเนื่องจากความสามารถของนายโป๊ะนั่นเอง จึงได้เป็นศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของคุณแม่เจริญนอกจากนั้นไม่ว่านายโป๊ะจะต้องไปงานไหน คุณแม่เจริญเป็นต้องซ้อมเพลงและเกลาให้จนเป็นที่น่าพอใจ นายโป๊ะตามมาเป็นศิษย์คุณแม่เจริญที่บ้านท่านจางวางทั่ว หลังวัดกัลยาณมิตรด้วย ในโอกาสต่อ ๆ มา จึงได้มาเป็นคนร้องให้กับวงจางวางทั่วเสมอๆ รวมถึงการอัดแผ่นเสียงในนามของวงดนตรีวังบางขุนพรหมด้วย เมื่คราวประชันวงปี่พาทย์ในงานวันประสูติสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ นายโป๊ะ ได้ร้องเพลงแขกลพบุรีสามชั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง
นายโป๊ะแต่งงานและยังคงพำนักอยู่ที่บ้านหลังวัดอนงค์ต่อมาอีกหลายปี จึงย้ายไปอยู่แถวตลาดพลู หลังจากน้ำลดเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.๒๔๘๕ ขณะนั้นอายุได้ประมาณ ๔๐ ปี ก็ประสบอุบัติเหตุตกรถรางที่ท่าช้างวังหลวง และถึงแก่กรรม
อารดา กีระนันทน์
(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ นายพังพอน แตงสืบพันธุ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.