หลวงคนธรรพวาที (จักร์ จักรวาทิน)
(พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๖๐)
หลวงคนธรรพวาที (จักร์ จักรวาทิน) เกิดที่ตำบลนรสิงห์ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรของนายต่าย และนางอ่ำ มีความรู้ทางดนตรีโดยเฉพาะเครื่องสาย มาจากบ้านเดิมเข้ามารับราชการถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ อายุ ๓๒ ปี โดยทำหน้าที่เป็นคนสีซอประจำวงดนตรี ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท หลังจากรับราชการได้ ๑ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือนเพิ่มพิเศษเป็นค่าวิชาอีกเดือนละ ๓๐ บาท นับว่าได้รับพระราชทานเงินเดือนสูงมากถึง ๕๐ บาท ในเวลาเพียงปีเดียว เป็นผู้ใกล้ชิดกับเจ้าพระยารามราฆพมากและได้อาศัยอยู่ที่บ้านท่าเกษม ตำบลบางขุนพรหมและได้รับพระราชบรรดาศักดิ์เป็น ขุนคนธรรพวาที เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๖๐ บาท
เนื่องจากสนิทสนมกับ นายเจียน (เล็ก) ซึ่งทำงานอยู่ในกรมมหรสพด้วยกัน จึงพร้อมใจกันกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามสกุลว่า “จักรวาทิน” และนายเจียน (เล็ก) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “จารุจรน” พร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘
ต่อมาได้รับราชการในกองเครื่องสายฝรั่งได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงคนธรรพวาที เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ระยะนี้ท่านป่วยเป็นวัณโรคเรื้อรังอยู่แล้ว หลังจากนั้นอีกสองเดือนต่อมาก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ อายุได้ ๔๖ ปี
หลวงคนธรรพวาที (จักร์) เป็นผู้รับตำแหน่ง “คนธรรพวาที” คนแรกของกรุงสยามต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งนี้ให้แก่ นายจ่าง จิตตเสวี (บิดาพระยาภูมีเสวิน จิตร จิตตเสวี) เป็นคนที่ ๒ และเป็นคนสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ หลวงคนธรรพวาทีได้ชื่อว่าเป็นคนสีซอไพเราะ โดยเฉพาะซอด้วงเก่งมาก เข้าใจว่าเป็นครูคนหนึ่งของหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ด้วย เพราะแก่กว่าหลวงไพเราะเสียงซอถึง ๑๑ ปี และเป็นผู้ชักนำหลวงไพเราะเสียงซอแต่ครั้งอยู่อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา เข้ามากรุงเทพฯ ก่อน ต่อจากนั้นก็ได้เข้ามาถวายตัวเป็นมหาดเล็กของหม่อมเจ้าถูกถวิล สุขสวัสดิ์ แล้วเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลาต่อมา
หลวงคนธรรพวาที แต่งงานกับนางสาวเหรียญบุตรนายนิ่ม และนางนวล คนกรุงเก่า อยู่ศาลาเกวียน ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ แล้วย้ายมาอยู่บ้านเจ้าพระยารามราฆพที่ท่าเกษม บางขุนพรหม ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเช่าของพระยาเทพาธิบดี เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงแก่กรรม ในปีเดียวกัน
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง, คำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท และบันทึกประวัติหลวงไพเราะเสียงซอ)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดย พูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.