หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) (พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๘๙)

หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) (พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๘๙)

หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ)

(พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๘๙)

 

หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของ พระวิเศษภักดี (นุช) และนางเผื่อน

ไม่มีใครทราบว่านายจอน เรียนขับร้อง แหล่ เทศน์ จากครูท่านใด ทราบแต่ว่า มีนิสัยชอบดูตลก ฟังเสภา และฟังแหล่มหาชาติตามวัดมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนสามารถจดจำมาเล่นได้ และมีพรรคพวกพากันออกแสดงตามงานวัดตั้งแต่ยังหนุ่มมีชื่อเสียงมาก จนได้อัดเสียงเทศน์เรื่อง มอญบวช (มะโดด) ลงบนกระบอกเสียงโบราณ ซึ่งห้างรัตนมาลานำมาจำหน่าย พร้อมกับได้อัดแผ่นเสียงไว้อีกมาก โดยร้องคู่กับ นายศุข ศุขวาที (ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเพราะสำเนียง) งานประจำของนายจอน สุนทรเกศ ในขณะนั้นคือ เป็นจ่าทหารเรือ ร้องเพลงประจำกับวงแตรทหารเรือ เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นอันมาก ทำให้นายจอนมีโอกาสใกล้ชิดกับพระราชวงศ์หลายพระองค์ และได้เข้าไปสอนร้องหรือร้องเพลงในวงดนตรีประจำวงเจ้านายหลายพระองค์ อาทิ วังบูรพาภิรมย์ วังบางขุนพรหม วังกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นต้น 

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงละครเรื่องพระร่วง โปรดว่า นายจอน ร้องเพลงเขมรปากท่อได้ไพเราะ เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ประกอบกับรับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เป็นที่หลวงกล่อมโกศลศัพท์และพระราชทานนามสกุลว่า “สุนทรเกศ” ท่านเป็นต้นเสียงเห่เรือพระที่นั่งมาตลอด จนประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๑ จึงได้เลิก และมอบให้หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) รับหน้าที่ต่อไป ศิษย์ในด้านการขับร้องเพลงไทย มีหลายคนเช่น นางเล็ก ศุขโสต นางแช่ม เวชกร ศิษย์เสภา สวดคฤหัสถ์ และตลก ก็มีนายทิ้ง งานมงคล นายฟ้อน นายเรียม นายยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ เป็นต้น 

หลวงกล่อมโกศลศัพท์ มีภรรยาคนแรกชื่อ อิ่ม ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อแม่อิ่มถึงแก่กรรมได้ภรรยาใหม่ชื่อ ทรัพย์ เป็นนักร้องเพลงไทยเสียงดี เคยอัดแผ่นเสียงไว้ไม่น้อย มีบุตรกับแม่ทรัพย์ ๒ คนชื่อ สุข และละเมียด ต่อมาได้ภรรยาคนที่ ๓ ชื่อ พูน มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๒ คน ชื่อจวน สุดจิตร์ สุดใจ และจินดา ไม่ปรากฏว่าบุตรคนใดมีอาชีพเป็นนักดนตรีหรือนักร้อง ลักษณะนิสัยโดยส่วนตัวของท่านนั้นเป็นคนใจเย็น ไม่ดื่มสุรา ชอบทำอาหาร และไม่เอาเปรียบผู้อื่น ในบั้นปลายของชีวิตท่านป่วยด้วยโรคชรา และถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ระหว่างน้ำท่วมใหญ่ รวมอายุได้ ๘๔ ปี

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ในสยามรัฐรายวัน ประจำวันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดย พูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.