หลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ) (ไม่ทราบปีที่เกิด-พ.ศ. ๒๔๖๒)

หลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ) (ไม่ทราบปีที่เกิด-พ.ศ. ๒๔๖๒)

 

หลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ)

(ไม่ทราบปีที่เกิด-พ.ศ. ๒๔๖๒)

 

ประวัติส่วนตัวของหลวงกัลยาณมิตตาวาสนั้นไม่มีใครบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่เล่ากันต่อ ๆ มา จึงเลือนไปเสียส่วนใหญ่และบางตอนก็ความไม่ตรงกัน เท่าที่มีหลงเหลือจนปัจจุบันก็ไม่ครบถ้วน 

หลวงกัลยาณมิตตาวาส ชื่อเดิมว่า ทับ บิดามารดาชื่ออะไรไม่มีใครทราบ สกุลเดิมคือ ชูสัตย์ พื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่อยุธยา แต่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณรัชกาลที่ ๒ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หลังวัดกัลยาณมิตร ในบริเวณที่ดินของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ครั้งหนึ่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา เคยคิดจะให้ครูทับ เป็นเจ้าภาษีซุง เพื่อให้ร่ำรวยขึ้นบ้าง ทำอยู่ได้ ๒-๓ ปี แต่ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาเลย เพราะท่านเป็นคนตรงและใจอ่อน จึงเลิกเสีย และหันมายึดอาชีพทำพิณพาทย์เพียงอย่างเดียว 

ครูทับได้เป็นเจ้ากรมของวัดกัลยาณมิตร นับตั้งแต่นั้นมาผู้คนจึงมักเรียกท่านว่า “เจ้ากรมทับ” ท่านมีพี่น้อง ๔ คน รวมทั้งตัวท่านด้วย ที่เป็นชายมีชื่อวัน กับ จอน และเป็นหญิงชื่อ คอน ท่านเจ้ากรมทับถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านมีภรรยา ๓ คน ชื่อ แสง นวล และสุข ภรรยาที่ชื่อ แสง เป็นไทยอิสลาม มีบุตรหญิงชื่อ หนู และบุตรชายชื่อ ทั่ว  บุตรหญิงนั้นได้สมรสกับนายชื่น สุนทรวาทิน น้องชายของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม) มีบุตรชายหญิงชื่อ ฉัตร ช่อ และชั้น ซึ่งมีฝีมือทางดนตรีถึงขั้นเป็นครูทุกคน ส่วนบุตรชายที่ชื่อ ทั่ว นั้น ก็คือครูดนตรีฝีมือเยี่ยม ซึ่งเรียกขานกันว่า “จางวางทั่ว” ผู้สืบสกุลพาทยโกศล ต่อมานั่นเอง และเป็นผู้ที่มีบุตรชายหญิงฝีมือดนตรีดีมาก คือ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และคุณหญิงไพทูรย์ กิตติวรรณ ตัวคุณแม่แสงเอง ก็เป็นนักดนตรีที่มีความชำนาญทางเครื่องสาย โดยเฉพาะจะเข้ จนกระทั่งได้เป็นครูดนตรีของเจ้านายในราชสำนักหลายพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากนั้นยังมีฝีมือทางเหลาลูกระนาด และประดิษฐ์เครื่องดนตรี อีกด้วย 

ภรรยาที่ชื่อนวล มีบุตรชายอยู่เพียงคนเดียวชื่อ แมว หรือ ละม้าย พาทยโกศล ซึ่งเป็นนักดนตรีมีฝีมือทางเครื่องหนังเป็นเยี่ยม รู้จักกันในนามว่า “ครูแมว เครื่องหนัง” 

ส่วนภรรยาที่ชื่อสุข นั้น เข้าใจว่าไม่มีบุตรด้วยกัน 

เจ้ากรมทับ เป็นผู้สืบสกุลนักดนตรีมาแต่เดิมเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือมาก สามารถเล่นดนตรีได้ทุกชนิด แต่ชำนาญทางซอสามสายเป็นพิเศษ หลังจากที่ท่านเลิกทำอาชีพเป็นเจ้าภาษีซุงแล้วเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ได้พาท่านไปประจำวงพิณพาทย์ของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช (วังบูรพา) อยู่ระยะหนึ่งแล้วเลิกไป นอกจากนั้นยังรับหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำบ้าน ของพระยาภาสกรวงศ์อีกด้วย 

ในทางส่วนตัว เจ้ากรมทับ เป็นครูที่เอาจริงเอาจังกับการสอนมาก คอยเคี่ยวเข็ญให้ศิษย์ท่องจำและฝึกดนตรีจนจำแม่น ถ้าใครต่อเพลงไม่ได้ดังใจนึก ถึงขนาดลงโทษรุนแรง เช่นเอาธูปจี้หลังเป็นต้น เป็นเหตุให้บรรดาลูกศิษย์กลัวเกรงเป็นอันมาก ศิษย์ของท่านเจ้ากรมทับ เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ครูฉัตร ครูช่อ ครูแมว เป็นต้น 

ท่านเจ้ากรมทับเปลี่ยนจากนามสกุล ชูสัตย์ เป็น “พาทยโกศล” ตามที่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ประทานก่อนที่จะถึงแก่กรรมไม่กี่ปี นับเป็นนามสกุลที่เหมาะมาก เพราะลูกหลานก็ได้สืบทอดมรดกทางดนตรีทั้งในเชิงวิชาการ ในทางปฏิบัติ และในส่วนเครื่องดนตรีต่อมาอีกหลายชั่วคน จนกระทั่งปัจจุบัน

 

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของคุณรำจวน สมิงชัย เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕.)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดย พูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.