จำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๔๐)

จำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๔๐)

จำเนียร ศรีไทยพันธุ์

(พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๔๐)

 

นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ มีนามเดิมว่า “ผลัด” เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บิดาชื่อนายนาค ศรีไทยพันธุ์ มารดาชื่อนางเปลี่ยน ศรีไทยพันธุ์  มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๒ คน คือพี่ชายชื่อ ขุนทอง และพี่สาวชื่อ แม้นมาด 

พ.ศ. ๒๔๘๔ นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ได้สมรสกับนางสาวผ่องศรี สุขสมัย มีบุตรชายหญิง ๔ คน คือ อนงค์ อานุภาพ อร่ามศรี และอารีย์  ทั้ง ๔ คนนี้ เป็นนักดนตรี ๓ คน ไม่เป็น ๑ คน โดยเฉพาะอนงค์ ศรีไทยพันธุ์ เป็นนักร้องเสียงดีเยี่ยมของวงกรุงเทพมหานคร 

นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลบางกระทึก วัดดอนหวาย อำเภอสามพราน นครปฐม จบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้วได้ออกมาช่วยบิดามารดาทำนา ขณะมีอายุได้ ๙ ปี ก็ได้เริ่มเรียนดนตรีไทยกับครูสุ่ม พูลโคกหวาย นักดนตรีไทยชาวอำเภอบางเลน ซึ่งย้ายมาอยู่ใกล้บ้านนายจำเนียร ได้เรียนร่วมกับเพื่อนๆ รวม ๘ คน ครูคนแรกที่สอนให้อย่างจริงจังคือครูทองดี เดชชาวนา ได้สอนให้ตีฆ้องวงใหญ่เป็นอันดับแรก เพลงแรกที่เรียนคือ เพลงสาธุการ 

ต่อมาครูขุนทอง บางระจัน ได้รับมอบต่อจากครูทองดี ให้ฝึกสอนให้ชำนาญจนสามารถออกงานได้ ในเวลา ๖ เดือน ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ครูสุ่ม ก็ได้จัดให้เป็นวงปี่พาทย์เด็กอายุ ๙-๑๒ ปี เล่นออกงานครั้งแรกเมื่อออกพรรษาปีเดียวกันนั้น ต่อมามีผู้ว่าจ้างไปเล่นอยู่เสมอจนชำนาญมากขึ้น  เพลงที่เล่นในครั้งนั้นได้แก่ เพลงสาธุการจนจบโหมโรงเย็น โหมโรงเช้า เพลงฉิ่งพระฉัน เพลงโหมโรงเสภา เพลงเถา และเพลงตับ 

ในสมัยนั้นหลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย)  ได้ร้องเพลงโดยการขับเสภาออกอากาศจากสถานีวิทยุศาลาแดงเป็นประจำทุกวัน นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ได้หัดร้องเรียนแบบเป็นศิษย์ประเภท “ลักจำทางอากาศ” สมารถถอดแบบลีลาได้ดีมาก จึงได้ร้องร่วมกับวงปี่พาทย์ออกงานต่าง ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้นายจำเนียร ยังเป่าปี่ ตีระนาด ตีฆ้อง และตีเครื่องหนังได้อีกด้วย 

ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี นายเปี่ยม อยู่มิ่ง ผู้เป็นลุง ได้พามาฝากตัวเป็นศิษย์ของครูหรั่ง พุ่มทองสุก ครูดนตรีไทย มีชื่อเสียงที่ประตูน้ำภาษีเจริญ จนอายุได้ ๑๗ ปี ก็ได้ไปต่อปี่จากครูจันทร์ หลังวัดหนัง บางขุนเทียน ครูจันทร์ได้จับมือต่อปี่ในและปี่ชวาให้ โดยต่อเดี่ยวเชิดนอกปี่ใน เดี่ยวสารถีปี่ใน และสระหม่าปี่ชวา ระยะนี้ได้เป็นคนเป่าปี่ประจำวงครูหรั่งเรื่อยมา ครูหรั่งได้ต่อเพลงเดี่ยวอื่นให้อีกมาก เช่น แขกมอญ พญาโศก ลาวแพน เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีครูเพลงอีกหลายท่านต่อเพลงให้ เช่น ครูหนู (ไม่ทราบนามสกุล) ครอบเครื่องแบบนาฎศิลป์ให้ และต่อเพลงตระโหมโรงให้ 

ครูห่วง จับมือเรียนโหมโรงกลางวัน และยกครูครอบเครื่องอีกครั้งเมื่อเรียนจบ 

ครูหลวงบำรุง (ไม่ทราบนามเดิม) ต่อเพลงหน้าพาทย์ ไหว้ครู 

อาจารย์มนตรี ตราโมท ยกครูแล้วจับมือองค์พระพิราพ 

ครูสอน วงฆ้อง ต่อองค์พระพิราพให้เต็มองค์ 

ครูโชติ ดุริยประณีต ครูเทียบ คงลายทอง และครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ได้สอนเทคนิคต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ 

เฉพาะเพลงทยอยเดี่ยว ได้ต่อจากครูคงศักดิ์ คำศิริ และเฉพาะเพลงบัวลอย สระหม่าแขก สระหม่าไทย  นั้น ได้ต่อจากครูโชติ   ดุริยประณีต 

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ อายุได้ ๓๓ ปี จึงได้สมัครเข้าทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์สมัยหม่อมหลวงขาบมงคล กุญชร เป็นอธิบดี ในตำแหน่งศิลปินจัตวา ได้รับราชการมาจนเกษียณอายุ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ คือ ศิลปิน ระดับ ๔ 

นับแต่นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ มารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ นายจำเนียรได้แสดงความสามารถทางดนตรีหลายด้าน นอกจากจะเป่าปี่ดีที่สุดคนหนึ่งแล้ว ยังเล่นเครื่องดนตรีได้แทบทุกชนิด (ยกเว้นขิมและจะเข้) ทั้งยังอ่านโน้ตได้ทั้งไทยและสากล มีความรู้มาก ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีผลงานด้านแต่งเพลงไทยใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก และเป็นครูสอนดนตรีไทยที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและเป็นนักดนตรีประจำวงต่างๆ อีกมาก วงการดนตรีไทยจึงยกย่องเป็นครูดนตรีไทยผู้มีฝีมือชั้นนำคนหนึ่ง 

ผลงานเพลงไทยที่นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์  แต่งไว้มีหลายประเภท ทั้งทางร้อง ทางเครื่อง ทางเดี่ยว และบทร้องเพลงต่าง ๆ 

ประเภทแต่งทางขับร้องไว้ครบทั้งเถา ได้แก่ ทยอยญวน สร้อยลำปาง ตามกวาง ยอเร มอญกว้างดาบ  ศรีธรรมราช สองฝั่งโขง และน้ำลอดใต้ทราย เป็นต้น 

ประเภทประพันธ์บทร้อง ได้แก่ เทพชาตรีเถา ต้อยตลิ่งเถา นาคนิมิตรเถา และนกกระจอกทองเถา (แต่งร่วมกับครูสมาน ทองสุโชติ และคุณบุญยงค์ เกตุคง) เป็นต้น  

ประเภททางเดี่ยว เช่น ทยอยญวนเถา กราวเริงพล แสนสุดสวาท (สองชั้นและชั้นเดียว) ใบ้คลั่ง  (สองชั้นและชั้นเดียว) เป็นต้น 

ประเภทแต่งขยายและตัดลงจากของเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ เพลงเทพสร้อยสนเถา ซึ่งได้รับรางวัลพิณทอง รองชนะเลิศ จากธนาคารกสิกรไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ เพลงจีนเก็บบุปผาเถา และเพลงลาวดำเนินทรายเถา เป็นต้น

นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ มีความสามารถในการร้องเพลงได้ดีมากด้วย ทั้งเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ เพลงประกอบการเล่นละคร เพลงออกภาษาต่าง ๆ  

งานเผยแพร่ดนตรีไทย นอกจากงานออกอากาศประจำที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และงานสอนดนตรีไทยตามสถาบันการศึกษาหลายแห่งแล้ว ก็มีการบันทึกเสียง ได้แก่ บันทึกเสียงกับวงดนตรีพลายมงคลที่จัสแมค บันทึกเสียงกับวงดนตรีดุริยประณีต (พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๖) ที่บริษัทยีซีม่อน บันทึกเสียงกับวงดนตรีเกตุคง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ และบันทึกเสียงร้องเพลงประกอบภาพยนต์เรื่องเงาะป่า ตลอดเรื่อง นอกจากนี้ยังบันทึกเสียงกับวงดนตรีอื่น ๆ ไว้อีกมาก 

ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ุ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ และในเวลาต่อมาครูได้ถึงแก่กรรมลง เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี

 

วชิราภรณ์ วรรณดี 

(เรียบเรียงจากบันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย และบทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.