สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๖๖)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๖๖)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

(พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๖๖)

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงพระนามสั้น ๆ ว่า “ทูลกระหม่อมติ๋ว” ประสูติเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ 

ทูลกระหม่อมติ๋ว สนพระทัยในศิลปะและนาฏกรรมมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงศึกษาจบได้ปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษแล้วได้รับราชการประจำอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นและทรงเป็นผู้อำนวยการพระองค์แรกของโรงเรียนนี้ เกี่ยวกับการดนตรีไทยนั้นทรงโปรดปรานดนตรีและละครมาก ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่ดีดพิณใหญ่ของฝรั่งได้ เมื่อทรงสร้างวังส่วนพระองค์ขึ้น ณ บริเวณใกล้คลองแสนแสบ ติดกับวังสระปทุมแล้ว ได้ทรงจัดคณะละครขึ้นในวัง โดยได้ตัวละครบางคนมาจากวังสวนกุหลาบของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และจัดหาเพิ่มเติมขึ้นอีก หัวหน้าวงดนตรีของวังเพชรบูรณ์นั้นคือ ครูเจริญ (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นคนระนาดฝีมือดีมาก 

คณะละครของทูนกระหม่อมติ๋วได้มีโอกาสแสดงทั้งในงานหลวงและในวังเจ้านายผู้ใหญ่อยู่เสมอ โดยใช้บทละครของเก่าที่มีอยู่แล้ว อาทิ อิเหนา เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้ทรงนิพนธ์บทละครขึ้น ๓ เรื่อง คือ พระยศเกตุ สองกรวรวิก และจันทกินรี ซึ่งเรื่องสุดท้ายนี้เป็นที่นิยมมาก เพลงจากละครเรื่องนี้เพลงหนึ่ง คือ เพลงแม่ศรีทรงเครื่อง หรือ ตับภุมริน ยังเป็นที่นิยมมาจนทุกวันนี้ และในการฝึกหัดดนตรีและละครของวังเพชรบูรณ์นั้นจะทรงคุมฝึกซ้อมตลอดจนทรงออกแบบเครื่องแต่งตัวละครด้วยพระองค์เองเสมอ 

ทรงเสกสมรสด้วย ม.จ.บุญจิราธร ชุมพล พระธิดาของ  กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ แต่ไม่มีโอรสธิดาประสูติด้วย มี ๒ องค์ที่ประสูติแต่หม่อมระวี และหม่อมละออ คือพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช และพระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา 

ทูนกระหม่อมติ๋วสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๖  ขณะมีพระชนมายุได้ ๓๑ พรรษา

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๓)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.