เจริญ นักดนตรี
(พ.ศ.๒๔๔๘ – ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)
ครูเจริญ นักดนตรี เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ ที่ตำบลตลาดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เป็นบุตรของนายเล็ก และนางสมบุญ นักดนตรี
พ่อเล็กนั้นเป็นนักดนตรีบ้านนอก มีวงปี่พาทย์ของตัวเองเป็นปี่พาทย์เครื่องใหญ่สามารถบรรเลงได้เกือบรอบวง ยกเว้นปี่ ได้รวบรวมญาติมิตรและเพื่อนฝูงร่วมกันทำการค้าขายโดยใช้เรือเป็นพาหนะ ในขณะเดียวกันก็บรรทุกปี่พาทย์เครื่องใหญ่ลงเรือเป็ดลำโตๆ พ่วงกับเรือยนต์แล่นทวนน้ำขึ้นไป ผ่าน สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี ไปจนถึงนครสวรรค์แล้วล่องขึ้นไปตามแม่น้ำยมจนถึงพิจิตร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ตามลำดับ ระหว่างทางที่ไปนั้น หากบ้านใด วัดใดมีงานที่ต้องใช้วงปี่พาทย์หรือจะมีละครการละเล่น ตั้งแต่ละครนอกจนถึงหนังใหญ่ ก็จะยกเครื่องปี่พาทย์ขึ้นฝั่ง เมื่อเสร็จงานแล้วก็จะเดินทางต่อจนถึงจุดหมายที่กำหนดไว้ ที่เคยไปเหนือสุดคือ จังหวัดอุตรดิตถ์ ขากลับจึงซื้อสินค้าเมืองเหนือลงมาขายยังอยุธยาและอ่างทอง นับเป็นเรือสินค้าและเรือละครเร่ไปในตัว
วงดนตรีของพ่อเล็กนั้น มีคนเป่าปี่เป็นชาวเรือ ชื่อ “ลุงเปีย” เป่าปี่เจื้อยแจ้วดังไปหลายคุ้งน้ำ คนระนาดเอก ชื่อ “ผู้ใหญ่คล้อย” พ่อเล็กหัวหน้าวงมักจะเป็นคนตีระนาดทุ้ม คนตีเครื่องหนังชื่อ “ครูรอด” บางทีครูเจริญก็ตีฆ้อง ซึ่งบิดาเป็นผู้สอนให้ จนสามารถบรรเลงเพลงโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เพลงเรื่องต่าง ๆ เพลงฉิ่งพระฉัน จนถึงเพลงเรื่องใหญ่ ๆ เช่น มอญแปลง เป็นต้น ครั้นเริ่มเป็นหนุ่ม พ่อเล็กจึงได้นำตัวมาฝากให้พักอยู่กับญาติที่บ้านพระยาภูบาลบันเทิง (ประยูร อมาตยกุล) หน้าวัดเลียบ เวลากลางวันก็ช่วยงานบ้าน พอบ่ายก็ออกไปเรียนดนตรีกับครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่ตำบลบ้านบาตร เรียนอยู่ประมาณ ๒ ปี สามารถเดี่ยวเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ฆ้อง และระนาดได้ดี จึงกลับไปช่วยงานแทนบิดาบ้าง ครูเจริญกลับมาอยู่กับบิดาได้ไม่นาน พ่อเล็กก็ถึงแก่กรรมทิ้งกิจการละครเร่ทางน้ำไว้ให้ดำเนินการต่อ
พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่งงานกับหญิงสาวชาวเรือเร่ด้วยกัน มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน คนโตเป็นหญิง ชื่อ อารี (ถึงแก่กรรมแล้ว) นอกนั้นเป็นชายล้วน ชื่อ อารมณ์ เป็นคนฆ้อง ชะลอ เป็นคนระนาด เลียบ และไสว เป็นคนระนาดเอก บุตรเหล่านี้นอกจากจะเรียนจากครูเจริญแล้ว ยังเรียนจากครูพยอม ศรประพันธ์ ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติกันด้วย
เกี่ยวกับความรู้ทางด้านเพลงการนั้น ครูเจริญเล่าว่า ได้เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงจนถึงเพลงองค์พระพิราพจากบิดา เพราะเหตุว่าบิดาทำพิณพาทย์ประกอบหนังใหญ่ มาแต่ก่อนท่านเกิด บิดาจึงมีความรู้ด้านเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงมาก และถ่ายทอดให้ท่านต่อมา ขณะนี้ (พ.ศ.๒๕๒๕) ครูเจริญมีอายุได้ ๗๖ ปี ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี พักอยู่ ณ บ้านเกิดของท่าน ที่อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของครูเจริญ นักดนตรี)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.