เฉลิม บัวทั่ง
(พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๓๐)
ครูเฉลิม บัวทั่ง เป็นบุตรของนายปั้นและนางถนอม บัวทั่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นบุตรคนที่ ๑๘ ของนายปั้น
บิดาของครูเฉลิม เป็นนักดนตรีสังกัดอยู่ในวังพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม และเป็นเพื่อนรักกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เมื่อกรมหมื่นพิชัยฯ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น นักดนตรีในวงนี้ก็แยกย้ายกันไป ครูปั้นกลับไปตั้งวงดนตรีเองที่บ้านคลองบางม่วง จังหวัดนนทบุรี ครูเฉลิมเล่าว่า ท่านได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์มาตั้งแต่เด็ก พออายุได้ ๖ ปี บิดาก็จับมือให้ตีระนาดแล้วฝึกสอนให้เรื่อยมาจนสามารถเล่นได้รอบวงเมื่อครูอายุได้ ๑๑ ปี ครูปั้นจึงส่งตัวให้มาเรียนดนตรีไทยกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้ฝึกปรืออยู่ไม่นาน พระยาประสานฯ ก็ส่งขึ้นไปตีระนาดถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระเครื่องใหญ่ได้รับคำชมเชยว่า ฝีมือดี จะเก่งต่อไปข้างหน้าแต่ครูเฉลิมก็ได้อยู่กับ พระยาประสานฯ ไม่นานนัก ท่านพระยาฯ ก็ถึงแก่กรรม ขณะนั้นครูมีอายุได้ ๑๔ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้พระยาอนิรุทธเทวา (ฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา) นำครูเฉลิมไปอยู่ด้วย ครูจึงได้ศึกษาหาความรู้ด้านดนตรีจากครูอื่นๆ อีกหลายสำนักรวมทั้งที่สำนักท่านจางวางทั่ว พาทยโกศล ด้วย
ครูเฉลิม ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนพรานหลวง ตั้งแต่อายุได้ ๑๑ ปี จนอายุได้ ๑๕ ปี ก็ลาออกมารับราชการเป็นนักดนตรีอยู่ในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมปี่พาทย์และโขนหลวงก็ถูกยุบมารวมอยู่ในกรมศิลปากร ในระยะนี้มีการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศเป็นการใหญ่ ครูเฉลิม “ถูกดุลย์” ออกจากราชการไปเป็นครูสอนดนตรีไทยที่สโมสรบันเทิงของสามัคคยาจารย์สมาคม ประมาณ ๑ ปี แล้วไปสอนอยู่ที่กรมทหารอากาศ ดอนเมือง สมันหลวงกาจสงครามเป็นเสนาธิการ ประมาณ ๖ เดือน แล้วกลับเข้ารับราชการในกรมศิลปากรอีกระยะหนึ่ง ก็ลาออกไปประกอบอาชีพดนตรีเป็นส่วนตัวระหว่างนี้เกิดสงครามอินโดจีนซึ่งประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เมื่อสงครามสงบแล้ว ครูเฉลิมเข้ารับราชการอีก ในสังกัดกรมที่ดิน ไปประจำอยู่ประเทศเขมร ประมาณ ๔ เดือน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครูจึงอพยพหนีสงครามและลาออกจากราชการอีก จนกระทั่งพลเอกไสว ไสวแสนยากร อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้เรียกตัวครูให้ไปประจำวงดนตรีของกรมตำรวจ ครูได้ฝากผลงานไว้ที่กรมตำรวจหลายเพลง อาทิ เพลงมอญอ้อยอิ่งเถา ขอมใหญ่เถา เขมรพายเรือเถา เขมรเหลืองเถา ลางเลียบค่ายเถา และได้นำเพลงหน้าพาทย์ของเก่า พรัอมกับแต่งบางส่วนขึ้นใหม่ใช้บรรเลงบรรเลงเป็นเพลงชุดประกอบเรื่อง “วานรินทร์ นิ้วเพชร และอารยวิถี” อันเป็นเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงนิพพาน แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ผลงานของครูชุดนี้ไม่แพร่หลาย
ต่อมาครูเฉลิมลาออกจากกรมตำรวจไปประกอบอาชีพส่วนตัว และรับสอนดนตรีไทย ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิเช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตนนทบุรี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้าและเป็นหัวหน้าวงดนตรีเสริมมิตรบรรเลง ท่านได้มีโอกาสประดิษฐ์เพลงไทยขึ้นอีกมากมาย เช่น โหมโรงประสานเนรมิตร โหมโรงจามจุรี โหมโรงสรรเสริญพระจอมเกล้า โหมโรงพิมานมาศ โหมโรงมหาปิยะ โหมโรงรามาธิบดี ลาวลำปางใหญ่เถา ลาวลำปางเล็กเถา ลาวกระแซเถา ลาวกระแตเล็กเถา ลาวเจริญศรีเถา สีนวลเถา ลาวครวญเถา ดอกไม้เหนือเถา เคียงมอญรำดาบเถา เขมรใหญ่เถา สาวสอดแหวน ประพาสเภตรา หงส์ทอง (ทางวอลซ์) ล่องลม และได้แต่งเพลงพิเศษเนื่องในโอกาสเฉลิมพระยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย “เกริ่นเจ้าฟ้า ต่อด้วยเพลงประชุมเทพ” ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ครูได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่อให้ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะนักดนตรีไทยตัวอย่าง ซึ่งมีนักดนตรีไทยที่ได้รับพระราชทานโล่ครั้งนี้เพียง ๔ คน คือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ครูเฉลิม บัวทั่ง คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และครูบุญยงค์ เกตุคง ซึ่งครูเฉลิมบอกว่าเป็นรางวัลที่ครูภูมิใจที่สุดในชีวิต นอกจากนี้เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ครูได้แต่งเพลงเข้าประกวดรางวัลพิณทองซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ดำเนินการจัดประกวดเพลงของครูก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือเพลงปิ่นนคเรศเถา
ครูเฉลิมแต่งงานกับนางไสว มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งสิ้น ๑๑ คน เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ๔ คน บุตรธิดาของท่านที่มีฝีมือในทางดนตรีไทย ได้แก่ นายพัฒน์ บัวทั่ง คนระนาดเอก รับราชการอยู่ที่กองการสังคีต กรมศิลปากร นางสุพัฒน์ บัวทั่ง นักร้องกองดุริยางค์ทหารเรือ และนางสุธาร ศุขสายชล จะมีฝีมือจะเข้ดีมาก
นอกจากจะมีวงปี่พาทย์และมโหรีของตัวเองแล้ว ครูเฉลิมยังทำอังกะลุงส่งออกขายด้วยท่านได้เขียนโน้ตเพลงเสียงประสานสำหรับอังกะลุงไว้มาก ผลงานทางด้านอังกะลุงส่วนใหญ่มีบันทึกไว้ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และพักฟื้นที่บ้าน ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ครูได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๒๙ นับเป็นเกียรติสูงส่งและความปลื้มปิติสูงสุดครั้งสุดท้ายในชีวิตของครู ครูถึงแก่กรรมในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๐ รวมอายุได้ ๗๗ ปี
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก บทความสยามสังคีต ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และคำบอกเล่าของครูเฉลิม บัวทั่ง)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.