ฉัตร สุนทรวาทิน (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๖)

ฉัตร สุนทรวาทิน (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๖)

ฉัตร สุนทรวาทิน

(พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๖)

 

นายฉัตร สุนทรวาทิน เกิดเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ บ้านตระกูลพาทยโกศล บริเวณหลังวัดกัลยาณมิตร เป็นบุตรของนาชื่น สุนทรวาทิน  (น้องชายพระยาเสนาะดุริยางค์  แช่ม สุนทรวาทิน) และนางหนู ซึ่งเป็นน้องแท้ ๆ ของจางวางทั่ว พาทยโกศล เมื่อเด็กได้เติบโตมาในบ้านของตระกูลพาทยโกศล จึงเป็นศิษย์ของครูทองดี ชูสัตย์  หลวงกัลยามิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และได้เรียนดนตรีกับท่านจางวางทั่ว ผู้เป็นน้าด้วย มีน้องชายร่วมบิดามารดา เป็นนักดนตรีฝีมือดี ชื่อช่อ สุนทรวาทิน 

เนื่องจากมีเชื้อสายดนตรีมาแต่กำเนิด จึงมีความสามารถในทางดนตรีดี มาแต่อายุยังน้อย เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหาร ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงได้เข้ารับราชการในกองดุริยางค์กองทัพเรือ ตั้งแต่เป็นพลทหาร จนได้เป็นจ่าโท  สามารถเรียนโน๊ตนากลได้อย่างแตกฉาน ทั้งอ่าน ทั้งเขียนได้คล่องแคล่วมีความรู้ในเพลงการ เพลงประกอบการแสดง โขนละคร หุ่นกระบอก เป็นอย่างดี ได้เพลงทั้งทางเครื่องและทางร้องมาก ด้วยใกล้ชิดกับคุณแม่เจริญ พาทยโกศล และเล่นดนตรีด้วยกันมาเป็นเวลานาน 

พ.ศ. ๒๔๕๘ ไดัแต่งงานกับหญิงไทยอิสลามชื่อ เชื้อ บ้านอยู่กุฎีขาว ธนบุรี มีบุตรชายคนโตชื่อ เชิญ สุนทรวาทิน เป็นนักดนตรีไทย ชำนาญทางเครื่องหนัง กับบุตรอีก ๒ คนชื่อ ชดช้อย และช้องมาศ ซึ่งเป็นนักดนตรีและนักร้องตามลำดับ 

นายฉัตร นอกจากจะมีน้องชายเป็นนักดนตรีมีฝีมือ คือนายช่อ ยังมีพี่สาวชื่อชั้นเป็นนักดนตรีและนักร้อง ซึ่งได้ย้ายตามสามี (ชื่อนายรอด อักษรทับ) ขึ้นไปอยู่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ พี่น้องทั้ง ๓ รวมทั้งพี่เขย รวมเป็น ๔ คนนี้ ได้เป็นกำลังในการปลูกฝังดนตรีไทยให้แก่ชาวเชียงใหม่มาตั้งแต่ครั้งนั้น โดยเริ่มสอนในคุ้มเจ้าครองนคร และบ้านเจ้าแก้วนวรัตน์ ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงละคร โขน หุ่นกระบอก ละครร้อง แบบปรีดาลัย ฯลฯ ช่วยสอนอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงลากลับกรุงเทพฯ และได้ไปเป็นครูสอนให้แก่วงดนตรีของตระกูลเกิดผล ณ บ้านใหม่ อยุธยา จนตั้งเป็นวงปี่พาทย์ที่มีความสามารถสูงวงหนึ่ง ศิษย์คนสำคัญคือ กำนันสำราญ เกิดผล กำนันสำเริง เกิดผล เป็นต้น 

นายฉัตร ย้อนกลับไปอยู่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ และได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคไข้จับสั่นที่จังหวัดลำปาง ในปีเดียวกันนั้น รวมอายุได้ ๕๐ ปี

 

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจากบทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล คำบอกเล่าของนายสังเวียน เกิดผล และคำบอกเล่าของชดช้อย เกิดใจตรง)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.