เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล (พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๕๑๖)

เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล (พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๕๑๖)

เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล

(พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๕๑๖)

 

ชื่อ “เทวาประสิทธิ์” ช่างเหมาะกับคุณสมบัติของคุณครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศลจริง ๆ เพราะท่านเป็นเลิศในทางดนตรีราวกับมีเทวดามาประสิทธิ์ประสาทให้ คุณครูเทวาประสิทธิ์ หรือที่เรียกขานกันโดยย่อว่า คุณครูเทวาฯ เก่งวิเศษรอบวงตั้งแต่ ดีด สี ตี เป่า ไปจนถึงการขับร้องและแต่งเพลงแม้บางสาขาของดุริยางคศิลป์ เช่น การขับร้องและการดีดจะเข้ คุณครูเทวาฯ ไม่อาจปฏิบัติได้อย่างผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็มีความรู้ในหลักเกณฑ์และสามารถ “บอก” ได้จนถึงที่สุดเช่นเอตทัคคะอื่น ๆ เหมือนกัน  แต่ในส่วนที่จะต้องถือเป็นเลิศนั้นคือปี่ในและซอสามสาย กล่าวได้ว่าไม่มีผู้ใดอาจสามารถบรรเลงปี่ใน และซอสามสายได้เหมือนคุณครูเทวาฯ ทั้งในอดีตและอนาคต เพราะคุณครูเทวาฯ เล่นเครื่องดนตรีทั้งสองนี้ประหนึ่งว่าเป็นตัวคุณครูเอง ความลุ่มลึก ซับซ้อนแยบคายนั้นไม่มีใครสู้ ความสามารถทางซอสามสายนั้นแม้แต่คุณหลวงไพเราะเสียงซอก็ยังกล่าวชมคุณครูเทวาฯ ว่าไม่มีใครเทียบ  ส่วนปี่ในนั้นคุณครูเทวาฯ เป่าอย่างเป็นหลักเป็นฐานจริง ๆ ในเวลาบรรเลงร่วมวงจะฟังดูเหมือนเป็นเสียงของคุณครูคอยบอกกำกับลูกศิษย์แต่ละเครื่องอยู่จาง ๆ หนัก ๆ แต่ถ้าเป็นการบรรเลงเดี่ยวก็จะแจ้งสะอาด มีกำลังเต็มลมเต็มนิ้ว หาที่บกพร่องไม่ได้เลย  

คุณครูเทวาประสิทธิ์ เกิดเมื่อวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม นพศกตรงกับวันอังคารที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นบุตรคนใหญ่ของจางวางทั่งและนางปลั่ง พาทยโกศล มีนามเดิมว่านก ต่อมาเมื่ออายุ ๑๐ ปี สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์พินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ประทานนามให้ว่า “เทวาประสิทธิ์” ตามชื่อเพลงเพลงหนึ่ง คุณครูเทวาฯ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๘ คน แต่ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเยาว์ ๖ คน จึงมีชีวิตจนโต ๒ คน คือตัวท่านเองและคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ครูเทวาฯ ได้สมรสกับนางสาวยุพา โอชะกะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ มีบุตรชายเพียงคนเดียว คือนายอุทัย พาทยโกศล น่าเสียดายที่ครูเทวา ฯ อายุไม่ยืน ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ 

ในชาติก่อนครูเทวา ฯ คงจะได้เคยสร้างสมอุปนิสัยทางดนตรีไว้มาก จึงมาในชาตินี้แม้จะเริ่มการศึกษาในชั้นเรียนที่วัดกัลยาณมิตร และกำลังจะเข้าเรียนต่อในชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส แต่ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงเล็งเห็นว่ากคุณครูเทวา ฯ เป็นคนที่มีหน่วยก้านทางดนตรีมาก จึงทรงขอตัวให้ไปเรียนดนตรีกับพระองค์ท่านและให้เรียนโน้ตสากลกับพันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชญา) 

เมื่อคุณครูเทวา ฯ อายุได้ ๒๐ ปี ได้เข้ารับราชการทหาร อยู่ในกองแตรวงมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำหน้าที่ เขียนโน้ตสากล เมื่อครบเกณฑ์แล้วก็ออกจากประจำการและได้อุปสมบทที่วัดเทพศิรินทราวาส โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีอยู่กับวงพิณพาทย์วังบางขุนพรหมของทูนกระหม่อมบริพัตรฯ และวงพิณพาทย์ของจางวางทั่วตลอดมา 

คุณครูเทวา ฯ เกิดในบ้านตระกูลนักดนตรีที่หลังวัดกัลยาณมิตร ซึ่งมีนักดนตรีที่เก่งกาจหลายคน เมื่อยังเล็กได้มีโอกาสเริ่มหัดวิชาดนตรี จากหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ) ผู้เป็นปู่และจากจางวางทั่วผู้บิดานับตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนกระทั่งท่านสามารถบรรเลงเครื่องปี่พาทย์ได้ดีตั้งแต่อายุ ได้ ๘ ปี เมื่ออายุได้เพียง ๒ ปี คุณแม่เจริญหรือที่รู้จักกันในนามว่าหม่อมเจริญ ได้มาร่วมชีวิตกับบิดาของท่าน และได้ดูแลเลี้ยงดูคุณครูเทวาฯ ประหนึ่งว่าเป็นบุตรของตน ก็ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีโดยเฉพาะทางร้องให้อีก  นอกจากนั้นคุณครูยังได้ไปเรียนเป่าปี่ในกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จนกระทั่งเชี่ยวชาญในการเป่าปี่ตั้งแต่ยังเยาว์ ใน พ.ศ.๒๔๖๖ ในการประชันวงปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม คุณครูเทวาฯ ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง ๑๕ ปี ก็สามารถเดี่ยวปี่ชนะเลิศ ซึ่งทูนกระหม่อมบริพัตรฯ เคยตรัสว่า “ลูกตาทั่วคนนี้ เป่าปี่ดีจริง ๆ” ท่านมีปี่พิเศษเป็นสมบัติอยู่ ๒ เลา คือ ปี่ประจำตัวของ พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) และปี่คู่มือของพระยาประสานดุริยศัพท์จัดว่าเป็นปี่ที่มีเสียงดีมากไม่มีใครเทียบ

ส่วนในทางซอสามสายนั้นท่านได้รับถ่ายทอดวิชาจากปู่ของท่านเป็นปฐม หลังจากนั้นก็ได้เรียนจากทูนกระหม่อมบริพัตรฯ จนท้ายที่สุดได้รับประทานซอคู่พระหัตถ์ซึ่งเสียงดีมากมาคันหนึ่ง เรียกกันว่า ซอทวนนาค เมื่อคุณครูเทวาฯ มีอายุมากขึ้นแล้วได้มีโอกาสไปเรียนทางซอสามสายเพิ่มเติมจากพระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (ประสงค์ อมาตยกุล) ความสามารถในทางซอของท่านจึงมีทั้งในเชิงความรู้ ฝีมือ และความคิดในการประดิษฐ์ “ทาง” ด้วย ครั้งหนึ่งขณะที่คุณครูกำลังสีซอสามสายออกอากาศทางสถานีวิทยุ สายเอกเกิดขาดลงท่านก็สามารถสีต่อไปจนจบเพลงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยที่ถ้าไม่ตั้งใจสังเกต คนฟังก็จะไม่รู้เลยว่าซอที่สีอยู่มีเพียง ๒ สายเท่านั้น 

คุณครูเทวาฯ มีความผูกพันอยู่กับทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ยิ่งนัก หลักจากที่พระองค์ท่านเสด็จไปประทับที่ชวาแล้ว ก็ยังทรงมีลายพระหัตถ์ติดต่อกับคุณครูอยู่มิได้ขาด ทั้งถ่ายทอดความรู้ให้ทั้งปรึกษา ตลอดจนกระทั่งส่งโน้ตเพลงซึ่งทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ประทานมาให้วงปี่พาทย์ของคุณครูบรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ และยังโปรดให้คุณครูเดินทางไปเฝ้าเพื่อต่อเพลงและบรรเลงถวายหลายครั้ง 

สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้เชิญให้ครูเทวาฯ ไปถ่ายทอดวิชาดนตรีให้ เช่น โรงเรียนการช่างสตรีโชติเวช โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนศึกษานารี ศิริราชพยาบาล วิทยาครูบ้านสมเด็จ วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ คุณครูได้เคยไปช่วยราชการในด้านการบรรยายพิเศษ และปรับวงดนตรีให้แก่กองทัพบก และกรมตำรวจเป็นครั้งคราว นอกจากนั้นยังได้ไปบรรยายในสถาบันอีกหลายแห่ง 

สิ่งที่เป็นที่ปราบปลี้มใจที่สุดในชีวิต คือได้เคยถวายสอนซอสามสายแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ อยู่หลายปีตลอดจนได้ถวายสอนซอด้วงและซออู้แด่ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ 

ในทางส่วนตัวนั้นคุณครูเทวาฯ ก็ได้ควบคุมวงปี่พาทย์ต่อจากบิดาของท่าน นับเป็นวงดนตรีที่มีชื่อ ซึ่งรู้จักกันในนามว่า วงพาทยโกศล หรือวงฝั่งขะโน้น 

มรดกทางดนตรีที่คุณครูเทวาฯ ได้รับมาจากบรรพบุรุษอีกส่วนหนึ่ง คือ เครื่องดนตรีเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ บางชิ้นก็เป็นเครื่องมีค่าล้ำเลิศ เช่น ปี่ท่านพระ ชอทวนนาค ดังได้กล่าวแล้ว และยังมีเครื่องมโหรี เครื่องปี่พาทย์ทั้งมอญและไทยชุดใหญ่ทั้งชุดเป็นเครื่องประดับมุกลวดลายงดงาม ฝีมือเยี่ยม เครื่องดนตรีทุกชิ้นยังใช้งานและเก็บรักษาไว้ดีดังเดิมทุกประการจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

คุณครูเทวา ฯ มีลูกศิษย์ไม่น้อย แต่ละคนได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้ได้ไม่รู้จักหมด ไม่ว่าจะป็นทางปี่พาทย์ หรือทางเครื่องสาย ครูเทวาไม่เคย “จนทาง” และมีกลอนเพลงที่ไพเราะแปลกกว่าคนอื่น ศิษย์คนสำคัญ เช่น นายทองใบ คล่องฝีมือ นายบุญรอด ทองวิวัฒน์ นายสละ จอมแจ้งจันทร์ นายมาสก อนันตศักดิ์ นายกิ่ง คชาไพร นายช้อย เพิ่มผล นางชลอรัตน์ อ่วมหร่าย ฯลฯ 

นอกจากฝีมือในการบรรเลงดนตรีแล้ว ครูเทวาฯ ยังมีฝีมือในการแต่งเพลงอยู่มิใช่น้อยแต่ท่านไม่ค่อยนิยมแต่งเพลงใหม่ เนื่องจากเห็นว่าเพลงเก่า ๆ ของไทยนั้นมีมากจนเล่นไม่หมด จำไม่ไหว ทำให้ลืมเลือนกันไปเสียมากต่อมาก อีกประการหนึ่ง ท่านเกรงว่าจะเป็นการทำเทียมเจ้านายของท่าน คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ จนกระทั่งในระยะหลังด้วยความจำเป็นบางประการ ทำให้ท่านเริ่ม แต่งเพลงไว้บ้าง เช่น เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ทำเป็นทางโหมโรงและทางธรรมดา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานโน้ตสากลของเพลงพระราชนิพนธ์นี้มาให้ครูเทวาประสิทธิ์แต่งเป็นทางไทย) โหมโรงเพลงอาทิตย์อุทัย (เดิมชื่อโหมโรงเต่าทอง) เพลงเต่าเห่ เพลงนาคบริพัตรเถา เพลงช้างประสานงาเถา เพลงมุล่งเถา เพลงนั่งช้างชั้นเดียว เพลงขึ้นพลับพลา และเพลงเทวาประสิทธิ์เถา 

การสูญเสียครูเทวาประสิทธิ์ มิใช่แต่เพียงจะยังความอาลัยรักแก่บรรดาญาติมิตรและลูกศิษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของวงการดนตรีไทยอีกด้วย

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์ งานประราชทานเพลิงศพ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล พ.ศ.๒๕๑๖ หนังสือ”ประวัตินักดนตรีไทย” ของเจริญชัย ชนไพโรจน์ และคำบอกเล่าเพิ่มเติมจากทายาทและศิษย์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.